“กรมควบคุมมลพิษ” ยกระดับลดแหล่งกำเนิด PM2.5
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงมาตรการ “การยกระดับมาตรการเพื่อลดแหล่งกำเนิด PM2.5 และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย” ที่ปัจจุบันภาพรวมค่า PM 2.5 ของประเทศไทย เกินค่ามาตรฐานเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในบางพื้นที่
โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ บูรณาการร่วมกับ กทม.กำหนดมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ขอความร่วมมือ WFH ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันที่อากาศจะปิดและมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด เพื่อลดการจราจร ลดการเคลื่อนที่และดูแลสุขภาพไม่ให้มีความเสี่ยง
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นตอนนี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่ายังอยู่ในระดับ 3 มีผลกระทบต่อสุขภาพ พบว่าค่าฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 61 – 131 มคก./ลบ.ม. ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้วยังไม่ถึงระดับที่จะต้องปิดสถานศึกษา ขอให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง และยังไม่ถึงเกณฑ์ให้รัฐบาลมีข้อสั่งการให้ WFH และปิดสถานศึกษา
ส่วนการแก้ไขกรมควบคุมมลพิษ ได้ทำเรื่องไปถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะรัฐมนตรีได้มีการสั่งการให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ มีความเข้มข้นในการกำกับดูแลการเผาในพื้นโล่ง การเผาภาคการเกษตร รวมไปถึงให้ระวังไฟป่า ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมาตรการลงทะเบียนการเผาโดยจะให้แต่ละจังหวัดดำเนินการพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆไป ไม่ให้มีการเผาซ้ำซ้อน หรือในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถลดการเผาลงไปเหลือเพียงประมาณ 500 – 600 จุด จากเดิมที่พบว่ามีค่าเฉลี่ยการเผา 1,200 จุด
ส่วนสถานการณ์ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่การก่อสร้าง ขณะนี้ในการตรวจวัดไม่พบว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบางพื้นที่ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาทางกรม คพ. ดำเนินการร่วมกับทาง กทม.โดยผู้ว่าฯ กทม.ทำการตรวจโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนทั้งหมด 800 โรงงาน ซึ่งมีการกำกับและสร้างแนวทางให้โรงงานทำระบบป้องกันฝุ่นให้ผ่านมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ว่า ปี 2566 ปริมาณฝุ่นจะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพอากาศปิดจนถึงเดือนมีนาคม และการใช้ชีวิตของประชาชนกลับมาเป็นปกติมีการสัญจร อาจจะทำให้ฝุ่นพีเอ็มมีค่าเกินมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งทางกรมฯ จะพยายามควบคุมปริมาณฝุ่นจากต้นตอไม่ให้เกินค่ามาตรฐานโดยเทียบจากปี 2565.