“ปั้น คำ หอม” นักสร้างสรรค์ขนม เติบโตคู่สังคมและสิ่งแวดล้อม
“ปั้น คำ หอม” คือแบรนด์ขนมไทยและเบเกอรี่ ที่อยู่ในตลาดมานานถึง 20 ปี (ก่อตั้งในปี 2546) มีสินค้ากว่า 300 รายการ ผลิตในโรงงานตัวเอง พร้อมเสิร์ฟความอร่อยอยู่ใน 39 สาขา ณ ปัจจุบัน มียอดขาย ปี 2565 กว่า 350 ล้านบาท ธุรกิจเริ่มต้นจากแพสชัน ใช้ความอดทนสร้างการเติบโต มุ่งสู่อนาคตด้วยธรรมาภิบาล โดยมีเป้าหมายดำเนินธุรกิจยั่งยืนเคียงคู่สังคมและสิ่งแวดล้อม
ระหว่างเส้นทางธุรกิจ พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว แต่มีเพื่อนร่วมสัญจรที่พร้อมช่วยเติมเต็มทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้ หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน และจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเดินทางของธุรกิจไม่สะดุด และมุ่งสู่เป้าหมายธุรกิจยั่งยืนได้ตามแผนที่วางไว้
“ปั้น คำ หอม” เป็นธุรกิจที่เกิดจากการปลุกปั้นของ “วิรัช จันทร์บูรณ์” กรรมการผู้จัดการ และ “รัชดา จันทร์บูรณ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วีอาร์พี ฟู้ด แอนด์ เบเกอรี่ จำกัด ต่อยอดมาจากธุรกิจเดิมของคุณแม่ (รัชดา จันทร์บูรณ์) ที่ทำขนมไทยใส่ถาดขายมากว่า 50 ปี โดยการทำให้ขนมพอดีคำ รสชาติเป็นมาตรฐาน และอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจขึ้นอันเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ “ปั้น คำ หอม” ซึ่งมาจาก การทำขนมที่ต้องปั้นขึ้นรูป ทำแบบพอดีคำ แต่ละคำก็มีรสชาติและกลิ่นหอม นั่นเอง
แม้วันนี้ธุรกิจจะขยับขยายใหญ่โต จนมีถึง 39 สาขา ใน 10 จังหวัด อาทิ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และนครปฐม ทว่าใครจะคิดว่า ในวันเริ่มต้นพวกเขาจะขายได้แค่หลักร้อยบาทต่อวัน และใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าจะขยายสาขาที่ 2 ได้สำเร็จ
“เริ่มแรกเราเปิดร้านเล็กๆ อยู่ในตึกแถวขนาด 1 คูหา ขายได้แค่หลักร้อยบาทต่อวัน โดยมีขนมไทยประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นเบเกอรี่ ซึ่ง 3 ปีแรก แทบไม่เห็นการเติบโตเลย หลังจากนั้นเราก็มาพัฒนาโปรดักต์ เพราะมองเห็นว่าไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักขนมไทยกันแล้ว ทำให้การบริโภคลดลง ในขณะที่เบเกอรี่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงปรับสัดส่วนมาทำเบเกอรี่ถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นตามมา พอทำได้ 5 ปี ธุรกิจเริ่มอยู่ตัว เราก็เริ่มขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น เนื่องจากฐานลูกค้ามีมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น และลูกค้าก็ยอมรับในคุณภาพ พูดได้ว่า เราเติบโตด้วยคุณภาพของสินค้าจริง ๆ ซึ่งหลังทำได้ 10 ปี เราก็เริ่มขยายสาขาแรก และสร้างโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานใน จ.กาญจนบุรีในเวลาต่อมา”
สิ่งหนึ่งที่ปั้น คำ หอม ให้ความสำคัญตั้งแต่วันเริ่มต้น คือ การพัฒนาระบบ จากร้านห้องแถวก็มาสร้าง ระบบมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น GMP HACCP จนมาถึง ISO 9001 มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อีกด้านหนึ่งคือการพัฒนาคน และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการทำ R&D จนปัจจุบันมีสินค้าอยู่ถึงกว่า 300 รายการ และยังแตกไลน์มาผลิตสินค้าแช่แข็ง (frozen food) สำหรับเจาะกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงเพื่อการส่งออกในอนาคตอีกด้วย
ระหว่างการเดินทางตลอด 2 ทศวรรษ พวกเขาต้องเผชิญความท้าทายอยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้น คือ โควิด-19 ที่ทำให้สาขาที่อยู่ในห้างฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง ต้องปิดตัวลงชั่วคราว แต่โชคดีที่ยังมีสาขานอกห้างฯ ตามต่างจังหวัด ที่ยังมียอดขายเติบโตอยู่ ช่วงโควิดยอดขายจึงไม่ได้ลดลงมาก ทว่ากำไรกลับหดหายเพราะต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงเม็ดเงินที่ต้องใช้กับการแก้ปัญหาในช่วงโควิด ทั้งยังต้องแบกรับราคาต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นจากปัญหาสงครามในเวลาต่อมาอีกด้วย
“การทำธุรกิจเงินทุนเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องมีการสำรองเงินไว้ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาSME D Bank ก็มาช่วยซัพพอร์ตเรา ทั้งในเรื่องของสินเชื่อในช่วงเวลาปกติ พอเกิดโควิด ก็ยังได้รับความช่วยเหลือในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู ที่เพิ่มเข้ามาด้วย ทำให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เพียงด้านเงินทุน แต่ยังรวมถึงการให้องค์ความรู้ผ่านการจัดอบรมต่างๆ อีกด้วย ผมเองให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้มาก ไม่เพียงแค่เรื่องการผลิตสินค้าเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การบริหารจัดการ ตลอดจนนวัตกรรม เราก็ให้ความสำคัญ จึงต้องอัพเดทมุมมองของการบริหารจัดการอยู่ตลอดเวลา ซึ่ง SME D Bank ก็มีส่วนช่วยเราได้มาก”
วิรัชบอกว่าในช่วงเริ่มต้น ธุรกิจของพวกเขาขับเคลื่อนด้วยแพสชันและความอดทน แต่หลังจากนี้ “ความยั่งยืน” จะเป็นโจทย์สำคัญที่เข้ามากำหนดทิศทางธุรกิจ โดยจะมุ่งเน้นการดำเนินกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาล เพื่อเติบโตยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
“ตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มต้นธุรกิจ เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่เราอยู่กับพนักงาน กับชุมชน และสังคมรอบข้าง ฉะนั้นการดูแลพนักงาน ดูแลคนในชุมชน ตลอดจนคนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เป็นสิ่งสำคัญ แม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม วันนี้โลกเราอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แปรปรวน และค่อนข้างรุนแรง ซึ่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนบนโลก เราเองคือธุรกิจหนึ่ง คือคนๆ หนึ่ง ที่อยู่บนโลกใบนี้ด้วย ดังนั้นถ้าเราเติบโตขึ้น เราก็ควรแบ่งส่วนหนึ่งของกำไร เพื่อดูแล สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เชื่อว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเราอยู่ได้อย่างยั่งยืนนับจากนี้” วิรัช ทิ้งท้าย