องค์กรวิชาชีพสื่อ ร้องประธานสภาฯ สอบจริยธรรม “พลเอกประวิตร” ปมคุกคามนักข่าว
นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร้องประธานสภาผู้แทนราษฎรสอบจริยธรรม “พลเอกประวิตร” ปมคุกคามนักข่าว มอง ไม่ใช่การหยุมหัว นักการเมืองที่มีวุฒิภาวะไม่ควรทำแบบนี้ ยันไร้เกมการเมือง
วันนี้ 21 ส.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพันธ์ บัวทอง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โดยมีนายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นายอิทธิพันธ์ กล่าวว่าได้รวบรวมหลักฐานจากผู้ถูกกระทำและมุมตรงข้าม หากเห็นภาพในหลายมุมน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการล้อเล่นหยอกล้อหรือไม่
ด้านนายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการยื่นสอบจริยธรรม ไม่ได้ทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือก้าวล่วง แต่ได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้วว่าการกระทำเช่นนี้ ไม่ใช่ “การหยุมหัว” แต่เป็นการแสดงพฤติกรรมที่เกรี้ยวกราดและคุกคามสื่อ ไม่ใช่พฤติกรรมครั้งแรก ขอให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการพิจารณาทุกขั้นตอนให้รับทราบด้วย
ในฐานะผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนต้องได้รับปกป้องในการทำหน้าที่ สื่อไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร หากแหล่งข่าวไม่เต็มใจที่จะตอบหรือไม่พร้อมตอบก็แค่บอกกับผู้สื่อข่าว นักการเมืองที่มีวุฒิภาวะหลายคนก็ทำแบบนี้ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีที่ไม่ตอบคำถามสื่อ เพียงแต่ยิ้มและเดินออกไป
นายสุปัน ยืนยันว่าไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เราไม่ก้าวล่วงไปจริยธรรมข้ออื่น เพราะเราปกป้องสิทธิเสรีภาพในการทำงานของพี่น้องสื่อมวลชนมากกว่าประเด็นทางการเมือง
สำหรับหนังสือที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ นำมายื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร มีรายละเอียดดังนี้ ด้วยเกิดเหตุการณ์คุกคามผู้สื่อข่าวที่ปฎิบัติงานระหว่างขอสัมภาษณ์พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังรับทราบมติการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 โดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้แสดงพฤติกรรมใช้กำลังต่อผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามสัมภาษณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกและเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ปฏิบัติงาน โดยยึดหลักจริยธรรมวิชาชีพและความรับผิดชอบต่อสังคม ได้ติดตามตรวจสอบด้วยความห่วงใยแล้วเห็นว่า จากคลิปภาพเหตุการณ์ยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า การแสดงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเกินกว่าปกติวิสัยของการพูดคุยหยอกล้อกันด้วย ความคุ้นเคยระหว่างผู้สื่อข่าวกับแหล่งข่าว แต่เป็นการแสดงอาการโกรธเกรี้ยวและใช้กำลังคุกคามผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถำมสัมภำษณ์ก่อนเดินทางไปขึ้นรถยนต์ส่วนตัว
เพื่อให้นำไปสู่การตรวจสอบและยกระดับมาตรฐานการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของปวงชนชาวไทย ตลอดจนถึงเป็นกำลังใจแก่สื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เพื่อแสวงหาข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ต่อสาธารณะด้วยความถูกต้องรอบด้าน
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอยื่นตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและกรรมาธิการ พ.ศ.2563 ข้อ 12 ต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่แสดงกิริยา หรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ และข้อ 13 ต้องไม่แสดงอาการข่มขู่ อาฆาตมาดร้าย หรือใช้กำลังประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น เพื่อให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและสอบหาข้อเท็จจริงตามระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาที่กำหนดต่อไป