“ตลาดบางกะปิ” ติดโควิดทะลุ 200 คน

ส.ส.ฐิติภัสร์ เผยผลตรวจเชิงรุก “ตลาดบางกะปิ” ติดโควิดทะลุ 200 คน บางส่วนยังรอผล ชี้ปัญหาใหญ่พบ “แรงงานต่างด้าว” ผิดกฎหมายยังไม่ได้รับการตรวจ แนะรัฐเร่งแยกตัวด่วนหวั่นเชื้อกระจายคุมยาก พร้อมปูพรหมฉีดวัคซีนในพื้นที่โดยเร็ว

น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส. กทม. เขตบางกะปิ-วังทองหลาง พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ข้อมูลผลการตรวจหาเชื้อโควิด จากการตรวจเชิงรุกที่ตลาดบางกะปิ โดย สปคม. กรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 64 มีผู้เข้ารับการตรวจทั้งสิ้น 845 คน ผลพบเชื้อ 137 คน คิดเป็นร้อยละ 16.21 / วันที่ 21 มีผู้เข้ารับการตรวจทั้งหมด 399 คน ผลพบผู้ติดเชื้อประมาณ 80 กว่าคน (รอยืนยันจากศบค. อีกครั้ง) และ 22 พ.ค. ตรวจไปทั้งหมด 501 คน (รอผลจาก ศบค.) ซึ่งเท่าที่ทราบจากประชาชนในตลาด แจ้งว่าตอนนี้ผู้เข้ารับการตรวจของวันที่ 22 พ.ค. บางรายได้รับการแจ้งผลตรวจบ้างแล้ว…และดูเหมือนว่าจะเยอะซะด้วย

หลังจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก ก็ยังคงมีปัญหาใหญ่อีก 1 ปัญหาคือ แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีพาสปอร์ต ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือ เรียกง่ายๆ คือ แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุก เพราะไม่มีเอกสารยืนยันและระบุตัวตน ซึ่งกลุ่มนี้มีอยู่อีกกว่าหลายร้อยคน อาศัยปะปนรวมกลุ่มกันอยู่กับแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย รวมถึงอาศัยอยู่ในตึกหอพัก อพาร์ทเม้นท์ และบ้านเช่าร่วมกับคนไทยบางส่วน

หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ความหวังในการควบคุมโรคดูเหมือนจะยากขึ้น เราจำเป็นต้องนำคนกลุ่มนี้แยกออกจากชุมชนก่อน แล้วเร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้คนที่เหลือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงาน แรงงานต่างด้าว รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงทั้งหมด

ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายที่แยกออกไป เราควรเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เพราะต้องยอมรับว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อนาคตเราอาจจะขาดแคลนแรงงาน

ดังนั้นหากเรานำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบแล้ว ยังได้ในเรื่องของการตรวจสอบอัตตลักษณ์ ป้องกันปัญหาอาชญากรรมในอนาคต และรัฐควรจัดให้มีกองทุนที่มีลักษณะ กองทุนสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าว ให้พวกแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนรอบนี้ทุกคน ต้องช่วยกันจ่ายเงินเข้ากองทุน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประเทศเรามากจนเกินไปในอนาคต

ระหว่างที่มีการปิดตลาดบางกะปิ 14 วัน ทางผู้บริหารตลาด ควรมีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณสุข และสุขอนามัยภายในตลาด ตามนโยบายของคณะกรรมควบคุมโรค กรุงเทพมหานคร

อย่าปล่อยให้การปิดตลาด 14 เป็นเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น แต่ต้องถือโอกาสยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความสะอาดของตลาด และคุณภาพชีวิตของประชาชนไปในตัว

หากทางตลาดสามารถปรับปรุงได้ดีมีมาตราฐานความสะอาดแล้ว กรุงเทพมหานครอาจจะพิจารณาเปิดก่อนกำหนด 14 วันก็ได้ แต่หากปิดแล้วทำแค่ขัดล้างทำความสะอาด ไม่ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความสะอาด โรคระบาดและโรคอื่นๆก็จะกลับมาอีกเหมือนเดิมค่ะ”