“สมศักดิ์” แถลงปมไทยศูนย์กลางส่งออกยาเสพติด ย้ำเดินหน้าประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  แถลงถึงสถานการณ์ภาพรวมการสกัดกั้นและการลักลอบส่งออกยาเสพติด ความคืบหน้าคดีส่งออกยาเสพติดไปต่างประเทศ เนื่องจากช่วงเดือนที่ผ่านมาปรากฎขึ้นเป็นข่าวบ่อยครั้ง ณ ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส

นายสมศักดิ์กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้พบการลักลอบส่งยาเสพติดหลายครั้งมีที่มาจากประเทศไทย เนื่องจากที่ตั้งของประเทศไทยมีพื้นที่ติดกับสามเหลี่ยมทองคำแหล่งผลิตยาเสพติดสำคัญ และการคมนาคมสะดวกเอื้อต่อการขนส่ง เส้นทางการนำเข้ามา ทั้งทางชายแดนภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันตก ล้วนเป็นเส้นทางที่มีการลักลอบขนส่งยาเสพติด

แม้จะมีการสกัดกั้นได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีที่เล็ดลอดผ่านเข้าไป และประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ที่มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ความพร้อมทางด้านการคมนาคมขนส่งนี้ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการพบปะเจรจา เตรียมการซุกซ่อนอำพรางยาเสพติด ตลอดจนดำเนินการด้านการจัดส่งยาเสพติดไปประเทศปลายทาง ปรากฏข่าวสารการจับกุมสกัดกั้นยาเสพติดจำนวนมาก

“ยาเสพติดที่ตรวจยึดได้ภายในประเทศ นับแต่ปลายปี 2562 มีปริมาณมากขึ้นในทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอซ์ และเฮโรอีน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาร่วมกันของหลายประเทศในภูมิภาค ณ ขณะนี้ จะถูกนำเข้ามาเพื่อส่งผ่านไปต่างประเทศ แต่ก็สกัดกั้นตรวจยึดได้จำนวนมาก เมื่อเทียบกับที่หลุดรอดไปปลายทาง เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งได้สั่งการให้ สำนักงาน ป.ป.ส.ประสานความร่วมมือกับประเทศปลายทาง จนกระทั่งไปสู่การจับกุม”

ทั้งนี้ จากสถิติการสกัดกั้นจับกุมยาเสพติดในประเทศไทยตั้งแต่ตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564 ได้ยาบ้า 344 ล้านเม็ด ไอซ์ 20,662 กก. และ เฮโรอีน 2,760 กก. ยาอี 279,868 เม็ด กัญชา 19,475 กก. โคเคน 42 กก. และคีตามีน 1,058 กก.

ส่วนสถิติการจับกุมยาเสพติดในประเทศไทยที่เตรียมส่งออกต่างประเทศ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2563-มิถุนายน 2564 รวม 84 คดี เป็นไอซ์ 72.08 กก. ยาบ้า 39,002 เม็ด เฮโรอีน 285.69 กก. ยาอี 1,922 เม็ด กัญชา 32.24 กก. โคเคน 0.005 กก. และคีตามีน 11.04 กก. ปลายทางพบเตรียมส่งออกยังประเทศต่างๆ รวม 17 ประเทศ คือ จีน มาเก๊า ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิสราเอล นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สเปน ยูเออี รัสเซีย อังกฤษ อเมริกา และนอร์เวย์

นอกจากนี้ สถิติการจับกุมยาเสพติดในต่างประเทศที่ส่งจากประเทศไทยไปตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564 รวม 21 คดี เป็นไอซ์ 1,203 กก. เฮโรอีน 23.5 กก. กัญชา 392 กก. คีตามีน 2.04 กก. ยาอี 1,320 เม็ด ประเทศปลายทาง คือ ยูเออี เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เกือบทั้งหมดส่งโดยขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติชาวจีนและแอฟริกันตะวันตก

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยังเปิดเผยอีกว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าวสั่งการให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ประสานกับ บช.ปส. ศุลกากร และ ศรภ. เร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลกลุ่มนักค้ายาเสพติด ที่ลักลอบขนยาเสพติดซุกซ่อนไปกับสิ่งของไปยังต่างประเทศหลายคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ประเทศออสเตรเลีย ตรวจยึดไอซ์ 316 กิโลกรัม ทราบถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว และพบว่ามีความเชื่อมโยงกับชาวไทยชาติพันธุ์ ส่วนคดีที่ประเทศเกาหลี ตรวจยึดไอซ์  4,040.49 กรัม อยู่ระหว่างขยายผล

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ชุดปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force : AITF) ประกอบด้วย ป.ป.ส. บช.ปส. ศุลกากร ศรภ. ร่วมกันจับกุม นายวิกเตอร์ ชอบูอีซี อูโกวเค่ (Mr.Victor Chibueze Ugwoke) สัญชาติไนจีเรีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 90/2561 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2561 ข้อหา “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้ที่ ณ บริเวณล็อบบี้โรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านงามวงศ์วาน พร้อมจับกุม น.ส.วิจิตตรา ก๊กรัมย์ ภรรยา ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับคดียาเสพติด ระหว่างขับรถมารับบริเวณโรงแรม จึงได้ร่วมกันจับกุม จากนั้นนำผู้ต้องหาทั้ง 2 เข้าตรวจค้นที่พักย่านลาดพร้าว  พบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) น้ำหนัก อยู่ภายในห้องพัก จึงแจ้งข้อหาเพิ่มเติมมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ทุกคดีเน้นให้มีการสืบสวน ขยายผล ย้ำให้ ป.ป.ส. ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศ เช่น บช.ปส. ศุลกากร และหน่วยงานต่างประเทศ ทั้งประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร ข่าวกรอง และเพิ่มความเข้มงวดสกัดกั้น/ตรวจค้นสินค้า ก่อนถูกส่งออกไปประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมไปถึงกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ตั้งข้อสังเกตคือ เครือข่ายกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดที่ลักลอบส่งออก พบว่ามี 3 กลุ่มหลัก คือ 1.แอฟริกันตะวันตก 2. ชาวไทยร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ และ 3.กลุ่มต่างชาติที่มาซื้อ-ขาย ยาเสพติดและลักลอบส่งออกเอง

นอกจากนี้ ยังพบว่าการซื้อ-ขาย ยาเสพติดมีการเปลี่ยนไปจากเดิม การส่งยาเสพติดมักผ่านบริษัทขนส่งเอกชนต่างๆ เพื่อลด/อำพรางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ การเจรจาซื้อ-ขาย ก็จะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงมาถึงตัวผู้สั่งยาเสพติดได้ อาทิ Line Facebook มีลักษณะอวตาร คือ ไร้ตัวตน ซึ่งตรงนี้สำนักงาน ป.ป.ส. ต้องเร่งจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการสืบสวนขยายผลจนไปถึงยึดทรัพย์สิน รวมทั้งเวลาซื้อ-ขายก็ใช้บุคคลอื่น หรือจ้างวาน ให้นำเงินโอนฝากตู้ฝากเงิน หรือผ่าน E-Banking เป็นต้น

การซุกซ่อนลำเลียงยาเสพติดเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการอำพรางเพื่อขนส่งยาเสพติด ซึ่งก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19  แบ่งได้เป็น 4 ประเภท 1.ซุกซ่อน/ดัดแปลงมากับกระเป๋าสัมภาระ 2.ซุกซ่อนหรือผสมกับของใช้ เช่น ครีมทาผิว ยาสระผม 3.ซุกซ่อนมาในส่วนต่างๆ ของร่างกาย และ 4.กลืนลงท้อง แต่หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีการอำพราง/ดัดแปลงมากับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กรอบรูป ของใช้ต่างๆ เป็นต้น

นายสมศักดิ์ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกคดี ทุกรูปแบบ เน้นย้ำให้ ป.ป.ส. ประสานหน่วนงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประชาชนทุกคนในพื้นที่ถือเป็นกำลังสำคัญยิ่ง รัฐบาลยังคงเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม โดยบูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อลดความเดือดร้อนและผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อให้สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล.