“พรรคกล้า” ซัด ปชป.ไม่กล้างัด พปชร.-สว.แก้ รธน.ยกเลิก สว.เลือกนายกฯ ด้าน “ปชป.” สวนจุดยืนแก้ รธน.ชัดเจน แซะ “พรรคกล้า” อย่าท้าเพื่อเป็นข่าว

นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีโฆษกพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าเป็นการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภา หลังจากหัวหน้าพรรคกล้า ท้าพรรคประชาธิปัตย์คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ หากพรรคพลังประชารัฐไม่ลงมติยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาทรงนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี คงเป็นแค่ฝันไป ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง เพราะไม่มีทางที่พรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.จะลงมติให้ จึงเป็นเหตุที่หัวหน้าพรรคกล้าออกมาท้าให้พรรคประชาปัตย์แสดงความชัดเจน หากพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว. ไม่ลงมติรับหลักการยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐเสนอเช่นกัน

“ถ้าเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนก่อน คงมีท่าทีชัดเจนไปแล้ว ไม่แอบอยู่หลังโฆษกพรรคแบบนี้ แม้จะเสนอแก้ไขยกเลิกอำนาจ ส.ว. แต่ถ้าไม่กล้าตั้งเงื่อนไขทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ สุดท้ายก็แค่ละครตบตาฉากหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอะไรคืบหน้า เสียดายเวลาผ่านมาเกือบ 2 ปี แต่ไม่ได้อะไรเลย” โฆษกพรรคกล้ากล่าว

โฆษกพรรคกล้ากล่าวย้ำว่า ความขัดแย้งและการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ราบรื่น ตลอดครึ่งเทอมของรัฐบาลชุดนี้ เพราะความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องกลับไปกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง แก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี แต่จะเป็นจริงได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภา จึงอยากฝากสื่อมวลชน สอบถามความชัดเจนกับพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย จะกล้าตั้งเงื่อนไขกับพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.ตามที่หัวหน้าพรรคกล้าเคยเสนอไว้หรือไม่

ด้านนางสาวศิริภา อินทวิชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ โฆษกพรรคกล้าพาดพิงถึงประชาธิปัตย์ และท้าพรรคประชาธิปัตย์ให้คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐว่า ไม่จำเป็นต้องท้าเพื่อให้ได้เป็นข่าว อยากให้พูดในมุมที่สร้างสรรค์บ้างก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น และเป็นพรรคแรกที่ออกมาไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ชัดเจนมาโดยตลอดต่อเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ที่พรรคได้ยื่นเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปแล้ว ซึ่งบรรจุระเบียบวาระการพิจารณาของรัฐสภาไปแล้วด้วย

พรรคกล้าควรจะรู้ถึงหลักการตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ที่จะต้องรับฟังกันด้วยเหตุด้วยผลก่อน ซึ่งในวาระหนึ่งคือวาระรับหลักการก็จะมีการอภิปรายสมาชิกรัฐสภาทุกคนเมื่อฟังแล้วก็มีสิทธิในการพิจารณาว่าจะรับร่างใดบ้าง เรื่องนี้เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานในเรื่องระบบงานรัฐสภา จะใช้อารมณ์เหนือเหตุผลคงไม่ได้ และเมื่อประชาธิปัตย์แสดงความชัดเจนในการแก้มาตรา 272 แล้ว สมาชิกรัฐสภาคนใดที่ไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องที่แต่ละพรรคแต่ละคนต้องตอบคำถามสังคมและต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจอยู่แล้ว พรรคกล้าถ้าจะกล้าให้เหมือนชื่อพรรคต้องกล้าออกมาให้ความเห็นที่อยู่บนหลักการความถูกต้องไม่เช่นนั้นจะตรงข้ามกับชื่อพรรคทันที.