“โฆษกรัฐบาล” เผย “นายก” จับตาสถานการณ์น้ำมันใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการเสริมจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เร่งบรรเทาลดค่าน้ำ/ไฟฟ้า รองรับเศรษฐกิจฟื้นตัว
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์การใช้และราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุมาจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่กลุ่มโอเปกควบคุมปริมาณการผลิต กระทรวงพลังงานจึงได้เตรียมพร้อมมาตรการรับมือ โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันรักษาเสถียรภาพหากกรณีราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (บี10) สูงเกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ
โดยแนวทางในการใช้มาตรการช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้มีความผันผวนมากจนเกินไป ซึ่งหากเกิดกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (B10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30 บาท/ลิตร ก็จะเข้าไปดูแลราคา ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซล (B10) อยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบี7 ถึง 3 บาทต่อลิตร จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซล บี7 หันมาเติมน้ำมันดีเซลบี 10 ด้วย
นายธนกรกล่าวว่า ที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีบทบาทอย่างมากในการรักษาระดับราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพให้ไม่กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ช่วยตรึงราคา LPG ขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา อีกทั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยังได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 – ก.ย.2565 (12 เดือน) โดย ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,018 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 1.9 ล้านครัวเรือน และน้ำประปาประมาณ 186,625 ครัวเรือน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด โดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติ โดยรัฐบาลมีเจตนารมณ์สำคัญที่จะรักษาระดับราคาน้ำมันที่คนไทยในฐานะผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด เอื้อต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและการผลิต ขณะเดียวกันต้องให้เป็นภาระต่อภาครัฐน้อยที่สุดด้วย.