ดีอีเอส ร่วม สตม.-PCT-กัมพูชารวบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามแดนเสียหาย300ล้าน
นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดีอีเอส ประสานการทำงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT นำกำลังตำรวจชุด PCT เข้าประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ประเทศกัมพูชา บุกเข้าตรวจค้นอาคารต้องสงสัยจำนวน 2 แห่ง ในกัมพูชา เพื่อจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ประกอบด้วย คนไทย 39 คน ชาวจีน 5 คน และชาวต่างชาติอื่นๆ จำนวนหนึ่ง โดยในส่วนผู้ต้องหาชาวไทยที่มีหมายจับอยู่แล้ว จะถูกนำตัวกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย
ที่ผ่านมา ชุดสืบสวนของ บก.สส.สตม. และตำรวจ PCT สืบสวนแกะรอยพบว่าอาคารเป้าหมาย 2 แห่ง ในเมืองสีหนุวิลล์ จังหวัดกำปงโสม และบริเวณใกล้สนามบินกัมพูชา กรุงพนมเปญ เป็นจุดที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์คนไทยใช้เป็นแหล่งกบดาน ในการกระทำความผิดหลอกลวงคนไทยให้โอนเงินด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนหลายร้อยล้านบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลชุดสืบสวนของตำรวจ ตรวจสอบพบว่าบัญชีธนาคารที่คนร้ายใช้กระทําความผิด มีการทําธุรกรรมทางการเงิน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพชูา ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่ใช้ในการกระทําความผิด โดยโทรศัพท์หลอกลวงคนไทย และใช้สคริปต์ข้อความหลอกเหยื่อคนไทยจากการรับแจ้งต้ังแต่เดือน ก.ย.64 ถึงปัจจุบัน ได้หลอกลวงผู้เสียหายชาวไทย 60 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 73 ล้านบาท และยังพบบัญชีธนาคารที่ใช้ทําความผิด รวมความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยเชื่อว่ายังมีผู้ที่ยังไม่ได้แจ้งความอีกหลายราย ซึ่งอาจมีความเสียหายถึง 200-300 ล้านบาท
สำหรับการแกะรอยแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้ จนสามารถเข้าจับกุมผู้กระทำความผิด ซึ่งรวมถึงผู้ต้องหาคนไทยมากกว่า 10 รายที่มีหมายจับในคดีลักษณะนี้อยู่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.) ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย กรณีถูกคนร้ายแอบอ้างเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ บริษัทส่งสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งแจ้งว่าพบสินค้าเป็นยาเสพติด จากนั้นได้มีคนร้ายอ้างว่าเป็นตํารวจไทย แจ้งว่าผู้เสียหายฟอกเงินเกี่ยวกับยาเสพติดและให้ผู้เสียหายโอนเงินในธนาคารที่มีทั้งหมด เพื่อตรวจสอบ โดยผู้เสียหายหลงเชื่อ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย
“การกระทำของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ ส่งผลกระทบความเสียหายต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เราได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านเว็บไซต์อาสาจับตาออนไลน์ของกระทรวงดิจิทัลฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายในรูปแบบอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีความซับซ้อนในการสืบสวนติดตามจับกุม และคนร้ายกระทําการในต่างประเทศ กระทรวงฯ จึงประสาน สตช. เพื่อขอความร่วมมือในการดําเนินการครั้งนี้ ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ และสามารถตรวจสอบข้อมูลข้อสงสัยจากตำรวจและกระทรวงฯ ได้” นายเอกสิทธิ์กล่าว.