บสย. เผยผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 ลุยปลดล็อก SMEs สร้างปรากฏการณ์ ด้วยมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ”
บสย. เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อไตรมาสแรก ปี 2568 รวม 8,162 ล้านบาท ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อกว่า 14,000 ราย สร้างปรากฏการณ์ด้วยมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ปลดล็อก SMEs ซื้อรถกระบะใหม่ ค้าขาย ขนส่งสินค้า ปลุกอุตสาหกรรมยานยนต์คึกคัก
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 8,162 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้รับสินเชื่อ 14,183 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SMEs) 89% ค้ำประกันเฉลี่ย 100,000 บาทต่อราย อีก 11% เป็น SMEs ทั่วไป ค้ำประกันเฉลี่ย 4.28 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 10,598 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 66,529 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 33,708 ล้านบาท
สำหรับโครงการตามมาตรการรัฐ โครงการค้ำประกัน PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” มียอดค้ำประกันในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จำนวน 5,069 ล้านบาท เติบโตถึง 32.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในโครงการค้ำประกัน PGS 10 “บสย. SMEs เข้มแข็ง” ที่มียอดค้ำประกัน 3,833 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 28.2% 2. อาหารและเครื่องดื่ม 12.5% และ 3. เกษตรกรรม 8.4% ซึ่งทั้ง 3 ประเภทครองสัดส่วนค้ำประกันถึง 52% สะท้อนอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนภูมิภาคที่มีการค้ำประกันสูงสุด คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็น 46% ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15% ภาคใต้ 13% ภาคเหนือ 11% ภาคตะวันออก 8% ภาคกลาง 5% และภาคตะวันตก 2%
ไฮไลท์สำคัญในไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของ บสย. คือ การเปิดตัวครั้งแรกของผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ “SMEs PICK-UP” ภายใต้มาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ที่ช่วยปลดล็อกให้ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย อาชีพอิสระ ที่มีความประสงต์ซื้อรถกระบะใหม่ในเชิงพาณิชย์ สร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ในการพิจารณาสินเชื่อ เพิ่มโอกาสให้ SMEs ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ของรถกระบะ โดยมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงถึง 90% ครอบคลุมซัพพลายเชนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ มากกว่า 2,500 บริษัทภายใต้มาตรการนี้ ช่วย SMEs ลดภาระทางการเงิน ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก โดยรัฐบาล กระทรวงการคลังเป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ ส่วนปีที่ 4-7 คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันเพียง 1.5% ต่อปีของภาระหนี้ที่ค้ำประกันในแต่ละปี เช่น ภาระหนี้สินเชื่อเงินต้นปีที่ 4 คงเหลือ 300,000 บาท SMEs จะจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันเพียง 4,500 บาทเท่านั้น โดยค้ำประกันนานสูงสุด 7 ปี หรือ 84 งวด วงเงินค้ำประกันสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อราย ภายใต้วงเงินค้ำประกันในระยะแรกจำนวน 5,000 ล้านบาท เปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันนี้ 1 เมษายน 2568 และสิ้นสุดรับคำขอวันที่ 30 ธันวาคม 2568
“มาตรการกระบะพี่ มีคลังค้ำ ได้รับการตอบรับอย่างมาก จากทั้งจากค่ายรถยนต์ต่างๆ กลุ่มลีสซิ่ง และผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการซื้อรถกระบะเพื่อประกอบอาชีพ เห็นชัดจากงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา สะท้อนว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ของ บสย. มาถูกทาง และมีส่วนสำคัญในการปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินให้กับ SMEs รวมถึงมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นตลาดรถกระบะให้กับมาฟื้นตัวอีกครั้ง” นายสิทธิกร กล่าว
นายสิทธิกร กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ บสย. ยังมีความโดดเด่นในการแก้หนี้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยในปีนี้ได้ปรับเงื่อนไขมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ให้ผ่อนปรนยิ่งขึ้น เพื่อช่วย SMEs ปลดหนี้ได้เร็วและง่ายขึ้น อาทิ เพิ่มระยะเวลาผ่อน, ตัดเงินต้นเพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว มาตรการใหม่ ช่วย SMEs “กลุ่มเปราะบาง” ที่มียอดหนี้ เงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรกเพียง 500 บาท ผ่อนสูงสุด 80 เดือน ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ค่างวดขั้นต่ำเพียง 500-2,500 บาท และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 30% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 6 งวด
ทั้งนี้ ตั้งแต่ออกมาตรการในปี 2565 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2568 ช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้รวม 19,472 ราย เฉพาะไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จำนวน 983 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 12,464 ล้านบาท เฉพาะไตรมาสที่ 1/2568 มูลหนี้ 592 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย. นอกจากนี้ บสย. ได้จัดกิจกรรมเชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปกับลูกหนี้ บสย. หรือ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชย ภายใต้มาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” นำความช่วยเหลือไปถึงผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดต่างๆ จากกิจกรรมนี้ ทำให้ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 บสย. สามารถช่วยลูกหนี้ “ปลดหนี้” ได้สูงถึง 171 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมากกว่าจำนวนลูกหนี้ที่สามารถ “ปลดหนี้” ในปี 2567 ตลอดทั้งปี ซึ่งมีจำนวน 141 ราย