ครม.เคาะแล้วของขวัญปีใหม่ ปี 66 กระทรวงการคลังและหน่วยงานในสังกัด จัดเต็ม 18 มาตรการ รวม 30 โครงการย่อย ใช้เงิน 1.8 หมื่นล้าน สร้างเม็ดเงินในระบบกว่า 270,000 ล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบการดำเนินมาตรการ/โครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน โดยมีมาตรการทั้งหมด 18 มาตรการ รวม 30 โครงการย่อย ซึ่งประมาณการณ์ว่ารัฐจะใช้เงินและสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บราว 18,690 ล้านบาท แต่จะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศกว่า 278,771 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.76 ของ GDP โดยโครงการต่าง ๆ มีรายละเอียด ดังนี้

1. มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมจำนวน 5 มาตรการ ได้แก่

 1.1 มาตรการช้อปดีมีคืนปี 2566” มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีและการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น 

(1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษหรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร และ 

(2) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท จากส่วนที่เกิน (1) จะต้องมีใบกำกับภาษี
เต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น 

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าสินค้าและบริการบางชนิด ได้แก่ ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ ค่าซื้อยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว (ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 แม้จะจ่ายค่าบริการในช่วงระยะเวลามาตรการ) และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

1.2 มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 (มาตรการลดภาษีที่ดินฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีที่ดินฯ) ให้แก่ผู้เสียภาษี เนื่องจาก 1) สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2) สิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีให้แก่เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมและการบรรเทาภาษีกรณีผู้เสียภาษีที่ดินฯ ที่มีภาระภาษีที่ดินฯ มากกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ในปี 2562 ในช่วง 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ (2563-2565) และ 3) มีการเพิ่มขึ้นของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปี 2566 ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีที่ดินฯ โดยมาตรการดังกล่าวจะให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 15ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯของปีภาษี.. 2566 ยกตัวอย่างเช่น กรณีมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 1 ล้านบาท ใช้ประกอบกิจการ เช่น ร้านขายของชำ ร้านตัดผม ร้านขายอาหารตามสั่ง โรงงาน อาคารสำนักงาน เป็นต้น ปกติจะมีภาระภาษี 3,000 บาท แต่จะได้รับการลดภาษีจากมาตรการลดภาษีที่ดินฯ 450 บาท คงเหลือภาษีที่ต้องชำระ 2,550 บาท และตัวอย่างกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับลดภาษีในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้อยู่แล้ว เช่น โรงผลิตไฟฟ้า เขื่อน เป็นต้น จะได้รับการลดภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้หลังจากได้รับการลดภาษีร้อยละ 50 แล้ว อย่างไรก็ดี ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดภาษีร้อยละ 90 แล้ว เช่น สวนสัตว์ สวนสนุก สถานที่เล่นกีฬา เป็นต้น จะไม่ได้รับการลดภาษีตามมาตรการลดภาษีที่ดินฯ เพิ่มเติมอีก

1.3 มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 (มาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและลดภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรม
ทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนการฟื้นตัว
ทางเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมาตรการดังกล่าวจะให้ลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขาย
และราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึง
กรณีการขายเฉพาะส่วน ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

1.4 มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้มี
การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล และบรรเทาผลกระทบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบินภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศ จากลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566

 1.5 มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรายาสูบและไพ่ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต.. 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิม ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

 2. มาตรการ/โครงการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้จัดทำโครงการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ประกอบด้วย มาตรการคืนเงินหรือลดอัตราดอกเบี้ย สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ รางวัลพิเศษของสลากออมสิน การลดค่างวดการผ่อนชำระ และการยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 15 โครงการ (เอกสารแนบ) ได้แก่

ธนาคารออมสิน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

2.1 โครงการวินัยดีมีเงิน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับลูกค้าที่มีวินัยทางการเงิน สำหรับลูกค้าวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท มีประวัติการชำระหนี้ดี ไม่น้อยกว่า 3 ปี จะได้รับเงินรายละ 500 บาท ซึ่งสามารถกดรับสิทธิผ่าน MyMo ได้ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2565

2.2 โครงการสลากออมสินดิจิทัล 2 ปีฉลองปีใหม่ 2566 เพื่อส่งเสริมการออมผ่านสลากออมสินพิเศษดิจิทัล สำหรับผู้ฝากสลากออมสินพิเศษ 2 ปี ทั้งใบสลากและดิจิทัล ในระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 โดยเพิ่มรางวัลพิเศษรางวัลละ 1 ล้านบาท จำนวน 12 รางวัล สำหรับงวดวันที่ 30 ธันวาคม 2565 และอีก 12 รางวัล สำหรับงวดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 4 โครงการ ได้แก่

2.3 โครงการชำระดีมีคืนปีบัญชี 2565 สำหรับลูกค้าเกษตรกรที่เป็นหนี้ปกติ ณ ปีบัญชี 2565 จำนวน 3 ล้านราย โดยเมื่อชำระดอกเบี้ยตามสัญญาที่มีสิทธิ์จะได้รับการคืนดอกเบี้ยเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝากตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธ.ก.ส. กำหนด ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 และสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 หรือเมื่อครบกำหนดวงเงินที่ ธ.ก.ส. กำหนด

2.4 โครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือนปีบัญชี 2565 สำหรับลูกค้าสินเชื่อที่มีสถานะเป็นหนี้ NPL หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธ.ก.ส. กำหนด ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566

2.5 มาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้าปีบัญชี 2565 โดยลูกค้าเกษตรกรที่เป็นหนี้ปกติ
ณ ปีบัญชี 2565 สามารถขอยื่นกู้สินเชื่อเพิ่มเติมได้ 

2.6 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อเพื่อการปรับตัว) ปีบัญชี 2565
โดยลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่สามารถยื่นขอสินเชื่อ โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งนี้ ต้องยื่นขอภายในวันที่             9 เมษายน 2566 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 1 โครงการ คือ

2.7 โครงการของขวัญปีใหม่ 2566 เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินสำหรับลูกค้าธอส. เพื่อส่งเสริม
การมีวินัยทางการเงินในการผ่อนชำระเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย เติมกำลังซื้อเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียน
ในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงเทศกาลปีใหม่ และประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าดาวน์โหลดและใช้งาน Application “GHB ALL” หรือ “GHB ALL GEN” สำหรับการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ โดยได้รับเงินรายละ 1,000 บาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวน 3 มาตรการ/โครงการ ได้แก่

2.8 ผ่อนดีมีคืน เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยของ ธพว. ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500,000 บาท
และมีประวัติการชำระดี โดยได้รับบัตรกำนัล ฟรีมูลค่าสุงสุด 300 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566

2.9 มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยได้รับบัตรเติมน้ำมันมูลค่าสูงสุด 5,000 บาท เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566

2.10 ส่งเสริมช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบ SMEs โดยลูกค้าสามารถซื้อสินค้าราคาพิเศษ
จาก SME D Market (ส่วนลดสูงสุดร้อยละ 20 มากกว่า 300 รายการสินค้า) ภายในเดือนธันวาคม 2565

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ

2.11 มาตรการจ่าย All in 1 โดยลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่เข้าร่วม 1 ใน 3 มาตรการ ดังนี้ 1) มาตรการสินเชื่อ EXIM Personal Biz 2) มาตรการสินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดง และ 3) มาตรการสินเชื่อ EXIM Shield Financing จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 6.60 ต่อปีระยะเวลา 6 เดือน

2.12 มาตรการรับเงินคืนร้อยละ 2 ของดอกเบี้ยจ่ายสะสม โดยลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนของ EXIM BANK จะได้รับเงินคืนร้อยละ 2 ของดอกเบี้ยจ่ายสะสม เป็นระยะเวลา 2 เดือน

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จำนวน 1 โครงการ คือ

2.13 สินเชื่อไอแบงค์ยืนหนึ่ง ประกอบด้วย 1) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2) โครงการสินเชื่อ Top Up และ 3) โครงการสินเชื่อบ้านแลกเงิน โดยลูกค้าทั่วไปที่เข้าร่วม 1 ใน 3 โครงการนี้ จะได้รับอัตรากำไรพิเศษ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่

2.14 มาตรการยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่ส่งคำขอให้ บสย. ค้ำประกันภายใต้โครงการดังนี้ 1) Bilateral Phase 7 (BI7) 2) Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะพิเศษ Soft Loan Extra และ 3) Thai Credit Guarantee Corporation Risk Based Pricing (TCG RBP) จะได้รับการยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่
1 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566

2.15. มาตรการสำหรับลูกหนี้บสย. สำหรับลูกหนี้ที่ประนอมหนี้กับ บสย. แล้ว และค้างชำระไม่เกิน 3 งวด จะได้รับการลดค่างวด ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2566 

  3. มาตรการ/โครงการอื่นจำนวน 7 มาตรการ/โครงการ (เอกสารแนบ) ได้แก่ 

 3.1 โครงการเที่ยวปีใหม่สุขใจไปกับพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่.. 2566 ให้แก่ประชาชน 

กรมธนารักษ์เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ พิพิธบางลำพู
พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดสงขลา และพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น
โดยไม่เก็บค่าเข้าชม ระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2566 

3.2 โครงการสนับสนุนตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความสุขที่มั่นคงของทุกภาคส่วน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงานก...) ดำเนินโครงการสนับสนุนตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต อย่างยั่งยืน รวมทั้งลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงโครงการที่จะช่วยลดภาระต้นทุน ที่เกินความจำเป็นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนี้

(1) การยกเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดตั้งกองทุนรวม 100,000 บาทต่อกองทุนรวม และยกเว้นค่าธรรมเนียมการแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวม ไม่เกิน 5,000 บาท ต่อกองทุนรวม โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่             1 มกราคม 2566

(2) การยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่แจ้งยุติการประกอบธุรกิจ 50,000 บาทต่อราย โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566

(3) การยกเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน โดยจะขยายเวลาเพิ่มเติม 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 

(4) การยกเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ทวนสอบ/ผู้ให้การรับรองข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ตามที่ชำระจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง มีผลจนถึงสิ้นปี 2566 และ
อยู่ระหว่างเตรียมขยายระยะเวลาต่อไปอีก 3 ปี

3.3 โครงการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีและมีภูมิคุ้มกันไม่ถูกหลอกลวง

 สำนักงานก... ให้ความสำคัญและมีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี และมีภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกหลอกลวง ในยุคที่การหลอกลวงมีมากขึ้นและมีรูปแบบที่หลากหลาย ดังนี้

 (1) สำนักงาน ก.ล.ต. เดินสายติดอาวุธคนไทย ระวังภัยกลโกง โดยจัดให้ปี 2566 เป็นปีแห่งการรณรงค์ให้ความรู้ผู้ลงทุนในการระวังภัยกลโกงการลงทุน เผยแพร่ความรู้ให้กระจายเข้าถึงประชาชนทั่วทุกภูมิภาค โดยเริ่มจากการจัดทำศูนย์รวมความรู้ภัยกลโกงการลงทุนบนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใต้ชื่อโครงการ “SCAM CENTER รู้ทันภัยกลโกง” (จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป) 

 (2) โครงการหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ e-learning “ก.ล.ต. Crypto Academy” (www.seccryptoacademy.com) เพื่อเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงความเสี่ยงและข้อควรระวังที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

 (3) โครงการเครื่องมือเปรียบเทียบกองทุนรวม “SEC Fund Check” เพื่อให้ประชาชนมีเครื่องมือที่สามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมได้อย่างครบถ้วนเป็นกลางพร้อมคุณสมบัติที่ง่ายต่อการใช้งาน สามารถเปรียบเทียบกองทุนในหลายมิติ โดยจะเริ่มให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2565

 (4) โครงการ “แนวทางวางแผนการเงินและการจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ” โดยจะจัดทำเป็นการเสวนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับแนวทางวางแผนการเงินและการจัดการเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ รวมถึงเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้อง โดยมีระยะเวลาดำเนินการช่วงประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนถึงช่วงครึ่งแรกของเดือนธันวาคม 2565

  3.4 โครงการกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย(ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ 2566

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงานคปภ.) ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ 2566 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัย ในการเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสำคัญที่มีวันหยุดต่อเนื่อง เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น จึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้การคุ้มครองในระยะเวลาสั้น 30 วัน ด้วยเบี้ยประกันภัย 10 บาท 

3.5 มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่.. 2566

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้จัดเตรียมมาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ให้กับผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ดังนี้

(1) ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 รวมระยะเวลา 6 เดือน ดังนี้ (1) ลดเงินเพิ่มร้อยละ 100 กรณีผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว (2) ลดเงินเพิ่มร้อยละ 80 กรณีผู้กู้ยืมเงินกลุ่มก่อนฟ้องคดีมาชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) (3) ลดหย่อนเงินต้น ร้อยละ 5 กรณีชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ (4) ลดอัตราดอกเบี้ย จากเดิมร้อยละ 1 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.01 ต่อปี ให้กับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ และ (5) ลดเบี้ยปรับเหลือร้อยละ 0.5 ต่อปี กรณีผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

 (2) ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันที่ผิดนัดชำระหนี้ ประจำปี 2563 ปี 2564 และปี 2565 จากเดิมภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 เป็นภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เว้นแต่คดีที่จะขาดอายุความ

 (3) ชะลอการบังคับคดีสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาไปจนถึงวันที่
31 ธันวาคม 2566 เว้นแต่คดีที่ใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการบังคับคดี

 (4) งดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกันที่กองทุนได้ยึดทรัพย์ไว้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมกับกองทุนของดการขายทอดตลาดต่อกรมบังคับคดี

(5) มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยให้ผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนกลุ่มก่อนฟ้องคดี ที่มีสถานะปัจจุบันไม่เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยลดอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 1 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.5 ต่อปี เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566

 3.6 มาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ให้กับลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน/ผู้ค้ำประกัน

  บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจำกัด (บสอ.) จัดทำมาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ให้กับลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน/ผู้ค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ค้ำประกันให้ปลดหนี้ได้ ดังนี้ (1) ลดเบี้ยปรับ ร้อยละ 100 ชำระเพียงเงินต้น กรณีปิดบัญชี (2) ลดเบี้ยปรับ ร้อยละ 100 ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 3 เดือน กรณีผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน (3) พิจารณาผ่อนปรนตามความสามารถของลูกค้า/ผู้ค้ำประกัน กรณีผ่อนชำระเกิน 6 เดือน 

3.7 โครงการชมชิมช็อปยาสูบเชียงราย

 การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จัดทำโครงการ “ชม ชิม ช็อป ยาสูบเชียงราย” เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนชาวเชียงรายได้มีพื้นที่ค้าขายสินค้า/พืชผลทางการเกษตร และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2566 ณ สวนตุงและโคมนครเชียงราย จังหวัดเชียงราย

________________________________________________________

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อ 1.1 ติดต่อ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 273 9020 ต่อ 3525 3509 3529 หรือกรมสรรพากร โทร. 1161

ข้อ 1.2 – 1.3 ติดต่อ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 02 273 9020 ต่อ 3521 3508 3548 3526

ข้อ 1.4 – 1.5 ติดต่อ กรมสรรพสามิต โทร. 1713

ข้อ 2 ติดต่อ ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือ 1115 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร.     02 555 0555 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือ 1357 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 169 9999 หรือสายด่วน Hotline 02 037 6099 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 264 3345 หรือ 1302 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999

ข้อ 3.1 ติดต่อ กรมธนารักษ์ โทร. 02 282 0818

ข้อ 3.2 – 3.3 ติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โทร. 1207 กด 5

ข้อ 3.4  ติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย โทร. 02 515 3999          ต่อ 8202 หรือสายด่วน คปภ. โทร. 1186

ข้อ 3.5 ติดต่อ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โทร. 02 016 2695

ข้อ 3.6 ติดต่อ บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจำกัดโทร. 0 2055 5999 ต่อ 2266

ข้อ 3.7 ติดต่อการยาสูบแห่งประเทศไทยโทร. 02 229 1000