“วราวุธ” ยืนยัน พม.ประสานตำรวจ-กทม. และทุกภาคส่วนเร่งแก้ปัญหาขอทาน วอนสังคมอย่าให้เงินขอทาน เพื่อตัดวงจร
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาขอทานชาวต่างชาติที่เข้ามาขอทานในประเทศไทยว่า กรณีขอทานที่เข้ามาขอทานในประเทศไทย ยืนยันว่าขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ไม่สามารถจะมาขอทานได้เพราะเรามีกฎหมายเอาผิด และเมื่อจับตัวได้แล้วหากเป็นคนไทย ทางกระทรวง พม.จะรับช่วงต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนำตัวเข้าสู่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่หากเป็นขอทานชาวต่างชาติ กระทรวง พม.จะประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ ส่งกลับประเทศต้นทาง หรือหากพิสูจน์ได้ว่า เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ จะเข้าสู่กระบวนการภายหลังการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) ในการตรวจสอบและดำเนินการต่อไป
นายวราวุธกล่าวต่อไปว่า การที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ กระทรวง พม.ต้องขอขอบคุณ การที่ออกสื่อเป็นประจำ เป็นสิ่งที่ช่วยในการแจ้งเบาะแส ทางเจ้าหน้าที่กระทรวง พม.ได้ร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานในพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนพบเห็นเหตุ ขอให้แจ้งเบาะแสเข้ามาได้ เพราะนอกจากภาคเอกชนแล้ว กระทรวง พม.และหน่วยงานของรัฐ มีศูนย์รับแจ้งโดยตรงเช่นกัน อาจจะทำงานไม่ทันใจเราต้องขออภัย เพราะเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับประชาชนทั่วประเทศที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาได้ ซึ่งทุกคนช่วยกันแจ้งเบาะแสเข้ามา เราต้องขอขอบคุณ
นายวราวุธกล่าวต่อไปอีกว่า ขอทานต่างชาติที่เป็นชาวจีนถูกจับถึง 7 คน มองว่าเป็นขบวนการหรือไม่นั้น ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูสาเหตุว่าการที่เดินทางเข้าประเทศไทย เป็นการเดินทางเข้ามาอย่างไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการใดหรือไม่ แต่ทางกระทรวง พม.ไม่มีอำนาจในการสอบสวนหรือดำเนินการ ดังนั้น ต้องรอข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำหรับการแก้ปัญหาในส่วนของประเทศไทย มีขบวนการขอทานนั้น เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ของกระทรวง พม. เราทำงานร่วมกับอีกหลายภาคส่วน มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การที่จะบอกว่าเป็นขบวนการหรือไม่นั้น เราต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูว่า มีการทำงานอย่างเป็นขบวนการหรือไม่
ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ปัญหาเรื่องขอทานไม่ยากเลย หากประชาชนที่เดินผ่านไป ผ่านมา ร่วมใจกัน อย่าให้เงินแก่ขอทาน เมื่อเขาไม่ได้เงิน ย่อมไม่เป็นธุรกิจ ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้วการแก้ปัญหาขอทาน ถ้าว่ายาก ถือว่ายาก ปราบปรามเก็บกวาดเท่าไหร่ก็เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ การแก้ปัญหาขอทาน คือ ไม่ให้เงินขอทานเท่านั้น เพราะเท่าที่มีข้อมูล ขอทานบางคนมีเงินมากกว่านักศึกษาจบปริญญาตรี ดังนั้นสำคัญที่สุดคือคนไทยเป็นคนใจบุญ แต่เราต้องใจบุญในทางที่ถูกต้องดีกว่า อย่าส่งเสริมในทางที่ผิดกฎหมาย
นายวราวุธกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการสรุปว่าขอทานชาวจีนที่ถูกจับร่วมขบวนการขอทานข้ามชาติหรือไม่นั้น การจะได้ข้อมูลดังกล่าว เราต้องรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกระทรวง พม.ไม่มีอำนาจไปสอบสวน และที่สำคัญ เราต้องใช้ทีมสหวิชาชีพในการเข้าไปพูดคุย ตรวจสอบกับผู้เสียหายก่อนว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร และทำงานเพื่อนำข้อมูลประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนการจะตัดสินได้ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ หรือเป็นขบวนการอย่างไรนั้น มีขั้นตอน และมีองค์ประกอบ ซึ่งการตรวจสอบในชั้นนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบว่าเข้าข่ายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากทราบผล เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ แต่ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน.