กนอ.ลุยยกระดับ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” ปี 66 สำเร็จตามเป้า-คาดปี 67 ใช้เกณฑ์เดิมในการประเมิน แต่ต้องสอดคล้อง SDGs 13 ข้อ!
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผย ยกระดับ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” ปี 66 สำเร็จตามเป้า พร้อมลุยต่อแผนปีงบประมาณ 2567 ให้สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 13 เป้าหมาย ย้ำยังผลักดันสิทธิประโยชน์ทั้งการลดหย่อน /ยกเว้น ค่าบริการอนุญาตในระบบ e-PP
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.มุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เพื่อการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันของภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบ 5 มิติ คือ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ โดยส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ตามวิสัยทัศน์ “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” โดยปีงบประมาณ 2566 กนอ.สามารถพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จากระดับ Eco-Champion 39 แห่ง ยกระดับขึ้นเป็นระดับ Eco-Excellence 22 แห่ง และระดับ Eco-World Class 7 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
กนอ.มีเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG Model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดย กนอ.ดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับนิคมฯ และโรงงาน เช่น การยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โครงการปรับปรุงค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco Efficiency) โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ยั่งยืน มุ่งเน้นจัดการกากของเสียให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และ Eco Factory for Waste Processor
“ปี 2567 กนอ. ยังคงใช้หลักเกณฑ์การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเดิม แต่จะปรับปรุงให้สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) 13 ข้อ ขณะเดียวกันยังผลักดันสิทธิประโยชน์สำหรับผู้พัฒนานิคมฯ และผู้ประกอบการ ทั้งการลดหย่อน / ยกเว้น ค่าบริการอนุญาตในระบบ e-PP ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.ในอนาคตต่อไป” นายวีริศกล่าว
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 กนอ.มีแผนงานยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในนิคมอุตสาหกรรม ดังนี้ ระดับ Eco Champion ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิว เอช เอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4, ระดับ Eco Excellence ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี, ระดับ Eco World Class ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิว เอช เอ ตะวันออก (มาบตาพุด), นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้.