“อธิบดีกรมอุทยาน” เปิดหลักสูตรทบทวนลาดตระเวนเชิงคุณภาพ-บินตรวจเยี่ยมจุดเฝ้าระวังพื้นที่ป่าแปลงใหญ่ (ชมคลิป)
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่บัญชาการและตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าอย่างใกล้ชิด โดยนายอรรถพลเดินทางไปเป็นประธานเปิด “โครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หลักสูตรเทคนิคการลาดตระเวน” และ “เปิดอาคารศูนย์ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol Center)” ร่วมกับผู้แทนจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF ประเทศไทย) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ –2 มีนาคม 2567 รวม 5 วัน ณ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร
โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ารับการฝึกอบรมจำนวนทั้งสิ้น 45 นาย จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง จังหวัดกำแพงเพชร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก เพื่อให้ผู้เข้าการอบรมมีทักษะและความชำนาญในด้านการใช้ยุทธวิธี การต่อสู้ป้องกันตัว การตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิด พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็ง ระเบียบวินัย และเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจให้กับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย
หลังจากนั้นนายอรรถพลได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อบินตรวจสภาพป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของจังหวัดนครสวรรค์-กำแพงเพชร ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำอุ่น แล้วบินเข้าไปในพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์ไฟป่าเหนือเขื่อนภูมิพล และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ฐานบินชั่วคราวเขื่อนภูมิพลและฐานเฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่ป่าแปลงใหญ่ 3 พื้นที่ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าแปลงใหญ่เชื่อมต่อกัน เนื้อที่กว่า 2 ล้านไร่ ทุกปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าแปลงใหญ่ผืนนี้ เป็นพื้นที่วิกฤตของการเกิดไฟป่าอีกแห่งหนึ่ง โดยเมื่อเกิดสถานการณ์ไฟป่าขึ้นแล้ว การเข้าถึงพื้นที่เพื่อดับไฟป่ากระทำได้ยาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน การเข้าดับไฟป่าต้องใช้เวลาเดินเท้าเข้าดับไฟป่าหลายชั่วโมง ซึ่งสาเหตุของการเกิดไฟป่าส่วนใหญ่มาจากการหาของป่าและล่าสัตว์ หากเกิดไฟป่าขึ้นจะส่งผลกระทบสูงต่อประชาชนในภาคเหนือจำนวนมาก
นายอรรถพลกล่าวว่า สถานการณ์จุดความร้อนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดไฟป่า และหมอกควันในหลายพื้นที่ โดยที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการสั่งปิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง เพื่อป้องกันการลักลอบเผาป่า บูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ชุมชนที่มีปัญหาไฟป่า เคาะประตูบ้านเพื่อประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการเข้มงวดกวดขันอย่างต่อเนื่อง ในการเตรียมความพร้อมเข้าทำการดับไฟทันทีที่มีการรายงานเหตุ นอกจากนี้ ได้มีการเฝ้าระวังกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยเกี่ยวกับการเผาป่า หากพบให้จับกุมและดำเนินคดีทันที และขอชื่นชมทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันดับไฟป่าที่เกิดขึ้น จนดับสนิท โดยเน้นย้ำให้ทุกคนคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ
สำหรับสถิติย้อนหลัง 3 วันที่ผ่านมา (24-26 ก.พ. 67) ยังไม่พบ hotspot ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยพบเพียงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จำนวน 48 จุด และในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จำนวน 10 จุด สำหรับสถานการณ์ไฟป่าทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันนี้ 27 กุมภาพันธ์ 2567 มีจุด hotspot สะสมทั้งประเทศ 42,050 จุด ในป่าอนุรักษ์ 9,246 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 9,276 จุด พื้นที่ อื่น23,528 จุด หากเปรียบเทียบ hotspot วันนี้กับปี 2566 จุด hotspot ลดลง 44.25% และสถานการณ์ hotspot ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มีจำนวน 517 จุด แยกเป็นในป่าอนุรักษ์ รวมจำนวน 176 จุด จาก 41 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 156 จุด และนอกเขตป่า จำนวน 185 จุด ซึ่งป่าอนุรักษ์ที่มีจำนวนจุด hotspot สูงที่สุด คืออุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จำนวน 22 จุด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ จำนวน 17 จุด และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จำนวน 9 จุด.