กทม.ประกาศพื้นที่อันตรายโรงงานซุกแคดเมียมย่านบางซื่อ-เร่งตรวจสุขภาพประชาชนบริเวณโดยรอบ (ชมคลิป)
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จากกรณีเหตุตรวจพบสารเคมีประเภทกากแคดเมียมภายในโรงงานเขตบางซื่อ เบื้องต้นตรวจสอบแล้วพบสารเคมี จำนวน 190 ถุง น้ำหนักประมาณ 300 ตัน ขณะนี้สำนักงานเขตบางซื่อได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่อันตราย ห้ามอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการในพื้นที่ที่กำหนด เนื่องจากเป็นสารเคมีชนิดร้ายแรงและอันตรายต่อชีวิต กรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดตอบโต้ภาวะฉุกเฉินสารเคมีและวัตถุอันตราย พร้อมร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักอนามัย เข้าดำเนินการในพื้นที่
สำนักงานเขตบางซื่อ ได้ออกประกาศ เรื่อง ห้ามอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการในพื้นที่ที่กำหนด จากการตรวจสอบพบว่ามีกากแคดเมียมอยู่ในพื้นที่บริษัทเขตบางชื่อ กรุงเทพมหานคร โดยที่กากแคดเมียมซึ่งเป็นกากแร่อุตสาหกรรมอันตราย มีลักษณะที่ใกล้จะเกิดสาธารณภัยอันเนื่องมาจากสารเคมีและวัตถุอันตรายขึ้นในพื้นที่ และการอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดๆ ในพื้นที่นั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและร่างกายของประชาชน จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 37 ประกอบกับมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ผู้อำนวยการเขตบางชื่อในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร จึงห้ามเข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่ดังกล่าว
นายชัชชาติกล่าวว่า ขอบคุณทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการหารือเมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นกังวลจากเหตุการณ์พบแคดเมียมที่จังหวัดสมุทรสาคร จึงได้พูดคุยกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงาน ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่ามีการตรวจทั้งหมด โรงเคลือบโลหะ 154 แห่ง โรงหลอมโลหะ 98 แห่ง จึงได้ออกคำสั่งให้ตรวจทั้งหมด ส่วนจุดที่มาตรวจวันนี้เป็นที่เก็บวัสดุเก่า ซึ่งได้ออกคำสั่งให้ตรวจเพิ่มเติมในแหล่งเก็บวัสดุเก่าเป็นการเร่งด่วนด้วย
ในส่วนของเขตบางซื่อมี 4 โรง โดยจุดที่มาตรวจมี 3 โรง ซึ่งเป็นใบอนุญาตต่อเนื่องกัน ส่วนอีกโรงที่ประชาชื่นตรวจแล้วไม่มีอะไร มาตรการขั้นแรกคือต้องพยายามไปสืบค้น ต้องขอขอบคุณทางตำรวจที่สืบหาเชิงลึกจนเจอ แม้จะหาไม่ได้ง่ายเพราะอาจมีการปกปิด สิ่งที่ต้องทำทันทีคือการประกาศพื้นที่สาธารณภัยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยในส่วนของ กทม.นั้นให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้อำนวยการฯ เป็นผู้ประกาศ พร้อมทั้งร่วมกับกรมควบคุมโรคเร่งดำเนินการตรวจสุขภาพของคนในพื้นที่ทั้งหมด.