บิ๊กป้อม เคาะแผน 4 หมื่นรายการ แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ครั้งที่ 4/2563 ที่ ทำเนียบรัฐบาล ครั้งสุดท้ายของปี 2563 ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าการคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าในปีหน้า จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือและฟื้นฟูให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว

“การประชุมในวันนี้ กนช. ได้เห็นชอบโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี พ.ศ. 2565 คือ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 10,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 3,000 ไร่ ทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค–บริโภค และเสริมการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งรองรับการใช้น้ำเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย”

โดยที่ประชุมวันนี้ได้พิจารณาเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตามที่ สทนช. เสนอ จำนวน 46,887 รายการทั่วประเทศ จากที่หน่วยงานเสนอมาทั้งหมด 86,879 รายการ หลังจากนี้ ได้มอบหมายให้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ รวบรวมโครงการทั้งหมดนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ.2565 ต่อไป”

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการกำหนดรูปแบบและแนวทางการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง

สำหรับเป็นแนวทางใช้ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ใน 3 รูปแบบ

1.ใช้เก็บกักน้ำแบบถาวร (เก็บน้ำไว้ช่วงฤดูแล้ง)

2.ใช้เก็บกักน้ำแบบชั่วคราว (เก็บน้ำหลังเก็บเกี่ยว)

และ 3.ใช้เป็นทางน้ำผ่าน (ช่วงน้ำหลาก) โดยแต่ละรูปแบบกำหนดให้สามารถเลือกใช้วิธีในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำได้ทั้งหมด 3 วิธี คือ ก่อสร้างทำนบดินใหม่ ปรับปรุงโครงสร้างเดิม และก่อสร้างอาคารควบคุมบังคับน้ำ

ทั้งนี้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยกำหนดหลักเกณฑ์และหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน ปี 2564 และเสนอกระทรวงการคลัง ต่อไป.