กทม.ขยายเวลาปิดสถานที่ถึง 17 พ.ค.- ตรวจคัดกรองชุมชนคลองเตย 8,022 คน
7 พ.ค. 64 คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2564 มีมติเห็นชอบคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีจำนวนสูง คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จึงมีมติเห็นสมควรดำเนินมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 29 เมษายน 2564 ต่อไปอีก เพื่อให้สามารถยุติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้โดยเร็ว จึงมีคำสั่งให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 17 พ.ค. 2564
ส่วนความคืบหน้าตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ในชุมชนคลองเตย นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก(swab)ในชุมชนพื้นที่เขตคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.- 6 พ.ค.64 ในหลายจุด อาทิวัดสะพาน ชุมชน 70 ไร่ ลานจอดรถตลาดคลองเตย และโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา โดยทำการ swab ค้นหาผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 8,022 ราย ผลไม่ติดเชื้อ 5,614 ราย ติดเชื้อ 219 ราย รอผลจากแล็ป 2,189 ราย
ด้านการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในชุมชนพื้นที่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานครได้ตั้งจุดให้บริการฉีดวัคซีนจำนวน 2 จุด ณ โรงเรียนวัดคลองเตย และศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขาพระราม 4 โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 4-6 พ.ค. 64 มีผู้รับบัตรคิวรวม 5,495 ราย รับบริการฉีดวัคซีนรวม5,006 ราย ไม่ได้การฉีดเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ 489 ราย
โดยเมื่อวันที่ 6 พ.ค.64 ณ โรงเรียนวัดคลองเตย รับบัตรคิว913 ราย ฉีดวัคซีน 892 ราย ไม่เข้าเกณฑ์ 21 ราย ส่วนจุดที่ศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขาพระราม 4 รับบัตรคิว 1,500 ราย ฉีดวัคซีน 1,312 ราย ไม่เข้าเกณฑ์ 188 ราย รวม 2 จุด ให้บริการฉีดวัคซีน 2,204 ราย
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ชุมชนเขตคลองเตยอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.64 เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดจำนวน 50,000 คน
สำหรับจำนวนผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลสนาม กทม. และ Hospitel มีจำนวนทั้งสิ้น1,674 ราย ดังนี้
โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 274 เตียง โรงพยาบาลสนาม กทม. 5 แห่ง ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 2,042 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 1,104 เตียง ยังว่างอยู่ 938 เตียงซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน 1000 เตียง ครองเตียง 534 เตียง ยังว่างอยู่ 466 เตียง
รพ.ราชพิพัฒน์ 200 เตียง ครองเตียง 193 เตียง ยังว่างอยู่ 7 เตียง
รพ.เอราวัณ 1(ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางบอน) 100 เตียง ครองเตียง 75 เตียง ยังว่างอยู่ 25 เตียง
รพ.เอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) 400 เตียง ครองเตียง 299 เตียง ยังว่างอยู่ 101 เตียง
รพ.เอราวัณ 3 (สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางมด) 3 เตียง ยังว่างอยู่ 339เตียง
และในส่วนของHospitel จำนวน 5 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 594 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 296 เตียง ยังว่างอยู่ 298 เตียง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
รพ.กลาง(อาคารหอพัก) 44 เตียง ครองเตียง 25 เหลือ 19 เตียง
รร.เออริเเกนแอพอร์ต 120 เตียงครองเตียง 80 เหลือ 40 เตียง
รร.บ้านไทย 300 เตียง ครองเตียง 70 เหลือ 230 เตียง
รร.ข้าวสาร พาเลส 90 เตียง ครองเตียง 88 เหลือ 2 เตียง
และอาคารพัชรกิติยาภา ม.นวมินทราชูทิศ 40 เตียง ครองเตียง 33 เหลือ 7 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่7พ.ค. 64 เวลา 08.00 น.)