“พรรคกล้า” อภิปรายงบปี 65 นอกสภาฯ จัดสรรไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ติดกับดักระบบราชการล้าหลัง ลดงบ ก.แรงงาน 28.7% แต่คนตกงานนับล้าน ขอ รบ.ชี้แจงแผนช่วยประชาชน
นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม รองโฆษกพรรคกล้า อภิปรายนอกสภาฯ ตั้งข้อสังเกตถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายาประจำปี 2565 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 31 พ.ค.64 ว่า เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายลดลง จาก 3.28 ล้านล้านบาท เหลือ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจเป็นตัวสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง (เอกสารงบประมาณโดยสังเขป หน้า 46) ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การกำหนดงบประมาณกลับพบข้อสังเกตว่า หลายอย่างไม่สอดรับกับสถานการณ์ เช่น งบประมาณรายจ่ายจำแนกตามวัตถุประสงค์การป้องกันประเทศ 199,820.7 ล้านบาท พบว่าเป็นงบประมาณงานกองทัพสูงถึง 198,597.2 ล้านบาท ขณะที่สถานการณ์ตามแนวชายแดนตึงเครียด ทั้งความไม่สงบภายในพม่า การหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว แต่งบประมาณการรักษาดินแดนมี 771.1 ล้านบาทเท่านั้น (เอกสารงบประมาณโดยสังเขป หน้า 70) จึงตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณส่วนใหญ่เสียไปกับงบประจำและการดูแลบุคลากรมากเกินไปหรือไม่ สะท้อนถึงระบบราชการล้าหลัง จึงขอให้หน่วยงานรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องนี้
นายแสนยากรณ์อภิปรายต่อไปว่า มีอีกประเด็นที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สถานการณ์โควิด-19 แรงงานจบใหม่ไม่มีงานทำ แรงงานเดิมตกงานอีกจำนวนมาก สภาพัฒน์รายงานตัวเลขรวม 7.6 แสนคน แต่หลายองค์กรคาดการณ์ไว้มากถึงหลักล้านคน แต่กระทรวงแรงงานซึ่งรับผิดชอบด้านนี้โดยตรงถูกตัดงบประมาณถึงร้อยละ 28.7 ถือเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกระทรวง (เอกสารงบประมาณโดยสังเขป หน้า 83) จึงตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลยังไม่เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงอยากให้มีการชี้แจงเรื่องนี้ในการประชุมสภาฯ ด้วย
ด้าน ทพ.กันตพงศ์ ดีชัยยะ ผู้เสนอตัวสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. พรรคกล้า อภิปรายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบประมาณด้านสาธารณสุขว่า งบกลางปีงบประมาณ 2564 มี 12 หมวด แต่ปีนี้มี 11 หมวด โดยตัดหมวด “ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019” (ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 , 2565 หน้า 2) โดยเข้าใจว่างบประมาณที่หายไปในส่วนนี้ วางแผนไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่เพิ่งออกมาเมื่อไม่กี่วันที่แล้ว ซึ่งกำหนดวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทสำหรับแผนงานด้านสาธารณสุข แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการเบิกจ่ายเงินกู้ด้านสาธารณสุขปีที่แล้ว วงเงิน 45,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้เบิกจ่ายจริงเพียงแค่ 7,102 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.78 เท่านั้น รวมถึงแผนงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 355,000 ล้านบาท ก็เบิกจ่ายเพียง 69,117 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.47 เท่านั้น (http://thaime.nesdc.go.th/#Summary) สะท้อนถึงปัญหาประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงิน หรือไม่มีแผนเบิกจ่ายเงินที่ชัดเจน หรือหลายโครงการยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะฟื้นเศรษฐกิจและสังคมได้หรือไม่
ขณะที่ นายบุญสืบ จันทร์แจ่มศรี ผู้เสนอตัวสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. พรรคกล้า อภิปรายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบประมาณตามยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลเตรียมงบไว้ 338,547.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.9 ของงบประมาณรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่เกือบจะน้อยที่สุด รองจากยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้อยละ 3.9 ซึ่งน่าจะไม่เพียงพอต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและประชาชนหลังยุคโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ซึ่งงบส่วนนี้ถูกจัดแบ่งให้กับแผนงานพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและวิสาหกิจขนาดเล็กเพียง 1,927 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 0.3 (เอกสารงบประมาณฉบับที่ 4 หน้า 3 , 55) สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กให้ยืนระยะแข่งขันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ เชื่อว่าภายในปีนี้ต่อเนี่องถึงปีหน้า จะมีบริษัท ห้างร้าน และกิจการขนาดปิดตัวลงอีกมาก และจะยิ่งเพิ่มอัตราคนว่างงานให้สูงขึ้น.