“เพื่อไทย” ชี้ “ประยุทธ์” จัดการโควิดผิดพลาดทำธุรกิจท่องเที่ยวทรุดหนัก จี้ เร่งช่วยเหลือก่อนท่องเที่ยวไทยกู่ไม่กลับ แนะ ปรับรูปแบบการท่องเที่ยวรองรับอนาคต
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส. เชียงใหม่ รองเลขาธิการ และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวในการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี 65 ว่า การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิดทั้ง 3 รอบจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาลมีสัดส่วนถึง 16% ของจีดีพี และมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ต้องมีรายได้หดหาย มีปัญหาหนี้สินเป็นจำนวนมาก หนี้ NPLของธุรกิจท่องเที่ยวพุ่งขึ้นถึง 5แสนล้าน และจะทำให้หนี้เสียในระบบธนาคารมีโอกาสพุ่งถึง 1.1 ล้านล้านบาทแล้ว หรือ 6.44% ของสินเชื่อรวม
นอกจากปัญหาของรัฐบาลในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดแล้ว พลเอกประยุทธ์ ยังล้มเหลวในการจัดการวัคซีน ซึ่งหากสามารถกระจายการฉีดได้มาก ก็จะสามารถเปิดประเทศได้เร็ว การท่องเที่ยวก็จะสามารถฟื้นได้เร็ว แต่พลเอกประยุทธ์มีปัญหาการจัดการวัคซีนอย่างมาก หากจำได้ผมเองได้เสนอแนะแนวทางเรื่องวัคซีนนี้มาตลอด และได้แนะนำล่วงหน้าไปถึงเรื่องพาสปอร์ตวัคซีนแบบดิจิตอลแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมและรองรับเพื่อให้เปิดการท่องเที่ยวได้ แต่ปัจจุบันขนาดแค่เรื่องปริมาณวัคซีนก็ยังขาดแคลน
ผลกระทบของธุรกิจท่องเที่ยวที่หดหาย ไปซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้แย่กว่าเดิม ทำให้ยอดคนจนพุ่งสูงขึ้น 100% จาก 4.7 ล้านคนเป็น 9.7 ล้านคน ตัวเลขผู้ว่างงาน ที่กำลังตกงาน และนักศึกษาที่กำลังจะจบใหม่ รวมๆเกือบ 10 ล้านคน หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นถึง 92% คิดง่ายๆคือ คนไทย 67 ล้านคนจะมีหนี้เพิ่มขึ้นคนละ 14,000 บาทต่อหัว เปรียบคือทารกเกิดใหม่ปุ๊ป มีหนี้ทันทีเลย 140,000 บาท
ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างต่ำมาตลอด เก็บรายได้ไม่เคยเข้าเป้า ในขณะที่ตลอด 7 ปีนี้ ใช้เงินมาแล้วกว่า 20.8 ล้านล้านบาท แต่ GDP ยังโตเฉลี่ยปีละแค่ 1% กว่าเท่านั้น เป็นรัฐบาลที่สร้างหนี้สูงสุดในประวัติศาสตร์ และก็ทำให้เศรษฐกิจพังเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน
ทั้งที่การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อประเทศอย่างมาก แต่กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณที่น้อยมาก มีสัดส่วนเพียง 0.24% เท่านั้น แสดงถึงพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถแยกแยะลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆได้ ทั้งนี้อยากเสนออนาคตของการท่องเที่ยวไทยในรูปแบบใหม่เช่น โมเดลการท่องเที่ยวปลอดภัย ผ่านการผลิตอาหาร-ผลไม้ สมุนไพรเพื่อสุขภาพ สู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างยั่งยืน” หรือการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น โครงการ 1 อำเภอ , 1 แหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อสร้าง Landmark ใหม่ๆ ในconcept CBT และ BCG ภายใต้แนวคิด smart tourism และ creative economy เป็นต้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าพลเอกประยุทธ์จะเข้าใจขนาดไหน นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะต้องมีแนวทางในการแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นภัยต่อสุขภาพของประชาชน แต่กลับไม่มีงบประมาณในเรื่องนี้เลย
นายจักรพลจึงสรุปว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีครั้งนี้ ไม่ผ่าน ไม่ตอบโจทย์ ไม่เรียงลำดับความสำคัญ ไม่รังสรรค์ ไม่เห็นทางรอด และไม่สามารถปล่อยให้ผ่านไปได้.