ศบค.กระทรวงมหาดไทย สั่งการ “ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด” วางระบบการบริหารการฉีดวัคซีนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ครอบคลุมทั่วถึง และเป็นไปตามลำดับความสำคัญ
วันที่ 20 มิ.ย.64 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับการสนับสนุนวัคซีนสำหรับฉีดให้กับบุคลากรในสังกัดจากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ส่วนราชการหลายหน่วยงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมตลาดสดไทย สมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย บริษัทและสถานประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่ง ศบค.มท. ได้แจ้งข้อมูลการขอรับการสนับสนุนวัคซีนข้างต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผน
เพื่อให้การบริหารจัดการการฉีดวัคซีนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหารือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อวางระบบการบริหารการฉีดวัคซีนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ครอบคลุม ทั่วถึง ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นไปตามมติ ศบค. และแนวทางที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้า และกลุ่มอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ รวมทั้งผู้มีอาชีพ/กิจการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน เช่น สาธารณูปโภค อาหาร ยา/ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว และประชาชนทั่วไป
รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ภาครัฐและเอกชน โรงงาน สถานประกอบการ องค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัด หรือองค์กรระหว่างประเทศ/หน่วยงานต่างชาติ ที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ สามารถแจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอรับวัคซีนไปฉีดให้บุคลากรในสังกัด โดยหาสถานพยาบาลรองรับการฉีดเองได้ พร้อมขอให้เพิ่มการเข้าถึงและให้ผู้ประกันตนได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ซึ่งการบริหารจัดการฉีดวัคซีนต้องเป็นไปตามเป้าหมายและความสำคัญเร่งด่วนที่ ศบค.กำหนดโดยเคร่งครัด
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องทำข้อมูลและแผนเผชิญเหตุสถานที่ที่มีบุคลากรจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน คลัสเตอร์ เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายแรงงานไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ไปยังพื้นที่อื่นๆ พร้อมมอบหมายนายอำเภอดำเนินการแนวทางดังกล่าวในระดับอำเภอด้วย.