“โฆษก ศบศ.” ย้ำ “บิ๊กตู่” ห่วงประชาชนสั่งขยับเวลาจ่ายเงินเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33” เร็วขึ้น เผย โครงการคนละครึ่งเตรียมเชื่อมระบบกับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกคน จึงได้สั่งการให้เร่งรัดขยับเวลาการจ่ายเงินเยียวยา ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ โดยจะเริ่มทยอยจ่ายตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมนี้ ซึ่งผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 2,500 บาท จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้วันละ 1 ล้านบัญชี จากผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามีจำนวน 2.87 ล้านคน ส่วนนายจ้างจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล ตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน สำหรับนายจ้างบุคคลธรรมดา จะโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน และนายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้าง ทุกๆ วันศุกร์ จนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2564
โฆษก ศบศ. ยังกล่าวถึงการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ที่เปิดให้ประชาชนใช้สิทธิล่าสุดไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 หลังผ่านมา 1 เดือน ปรากฎว่ายอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการมีผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 36.89 ล้านคน มียอดใช้จ่ายสะสม รวม 49,884.3 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 22.74 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 46,317.4 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 23,455.6 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 22,861.8 ล้านบาท 2) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 59,284 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 758.3 ล้านบาท 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.26 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,644.8 ล้านบาท และ 4) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 826,684 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 163.8 ล้านบาท
นายธนกรกล่าวว่า ทั้งนี้จากการประเมินพบว่าประชาชนทั่วประเทศ ยังมีการใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงรายละเอียดของบางโครงการ เช่น โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยขยายระยะเวลาการซื้อสินค้าหรือบริการที่จะได้รับ e-Voucher ถึงวันที่ 31 พฤศจิกายน 2564 เพิ่มวงเงินการใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณ e-Voucher สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อคนต่อวัน และปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ เป็น 1.4 ล้านสิทธิ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และขณะนี้กระทรวงการคลังได้กำชับให้ธนาคารกรุงไทย เร่งดำเนินการปรับปรุงระบบการใช้จ่ายเงินในโครงการ “คนละครึ่ง” ให้สามารถเชื่อมกับระบบของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ โดยคาดว่าจะดำเนินการเชื่อมระบบเสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ เพื่อรองรับการใช้จ่ายหลังกระทรวงการคลังโอนเงิน “คนละครึ่ง” รอบ 2 อีก 1,500 บาทเข้าแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ซึ่งประชาชนสามารถใช้จ่ายได้ถึงสิ้นปี 2564
ส่วนยอดการลงทะเบียนล่าสุดของวันที่ 30 ก.ค. 2564 โครงการคนละครึ่งมีการลงทะเบียนแล้ว 29.9 ล้านคน เหลืออีก 1.1 ล้านคน จะครบ 31 ล้านคน และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่ปรับลดเหลือ 1.4 ล้านสิทธิ ขณะนี้เหลืออีก 937,338 สิทธิ โดยประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนควบคู่ไปกับการดำเนินการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้ออย่างเต็มที่ตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี.