“กรมอนามัย” เผย ผลขับเคลื่อนมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม ลดคนไทยติดหวาน ลดอ้วน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาวะคนไทย ทำให้คนไทยบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มลดลง และคนเป็นโรคอ้วนในประเทศไทยลดลง ส่งผลให้ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2564
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มรสหวานส่งผลต่อความเสี่ยงของการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคฟันผุ พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายในระยะเวลา 5 ปี จาก พ.ศ.2546-2552 มีการบริโภคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.6 ส่งผลให้คนไทยได้รับน้ำตาลจากเครื่องดื่มคิดเป็นร้อยละ 45.9 ซึ่งสอดคล้องกับความชุกของโรคอ้วนในคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไปที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2551 เป็น 37.5 ในปี 2557 อีกทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย คิดเป็นร้อยละ 82 ของสาเหตุการตายทั้งหมดในปี 2556
นอกจากนี้ ในเด็กอายุ 12 ปี พบอัตราการเกิดโรคฟันผุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.9 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 57.3 ในปี 2543 จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่แนวคิดการจัดทำมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาวะคนไทย โดยได้มีการออกพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2560 กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เครื่องดื่มผง (3 in 1) และเครื่องดื่มเข้มข้นตามปริมาณน้ำตาล
ด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กล่าวเสริมว่า ผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาวะคนไทย ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ได้แก่ 1) ในภาพรวม ราคาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่ผลิตในประเทศและนำเข้ามีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.7 และ 18.1 ตามลำดับ 2) เครื่องดื่มที่ผลิตในประเทศมีสัดส่วนจำนวนชนิดของเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ในขณะที่เครื่องดื่มที่มีปริมาณ น้ำตาลสูงมีสัดส่วนลดลง โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร มีสัดส่วนลดลงมากที่สุด และ 3) สัดส่วนรายได้จากภาษีเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตทั้งหมด
จากการศึกษาปริมาณเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่ดื่มเฉลี่ยต่อวัน ในกลุ่มประชากรไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2563 พบกลุ่มตัวอย่างมีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลงจาก 283.6 มิลลิลิตร ในปี 2561 เป็น 275.8 มิลลิลิตร ในปี 2562 หรือลดลง ร้อยละ 2.8 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีการบริโภคลดลงสูงสุด ร้อยละ 7.2 โดยเครื่องดื่มที่มีการบริโภคลดลงมากที่สุด พบว่าเครื่องดื่มผสมโซดาแบบกระป๋องมีสัดส่วน การบริโภคลดลงมากที่สุด ร้อยละ 17.7 ตามด้วยเครื่องดื่มสมุนไพร ร้อยละ 10.0 และน้ำผลไม้แบบกล่อง ร้อยละ 9.2 ตามลำดับ
“นอกจากนี้ การสำรวจปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปี 2555–2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ปี 2551-2560 คนไทยมีการบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น แต่หลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติสรรพสามิต พ.ศ.2560 ในการจัดเก็บภาษี เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เครื่องดื่มผง (3 in 1) และเครื่องดื่มเข้มข้นตามปริมาณน้ำตาล ส่งผลให้คนไทยมีการบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 15.3 และ 14.0 ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ และในปี 2563 พบว่าคนเป็นโรคอ้วนลดลง 9,306 คน” ทันตแพทย์หญิงปิยะดากล่าว.