คณะทำงานต่างประเทศเพื่อไทย สวนแผนเปิดประเทศ 1 พ.ย.คนไทยอยู่ในภาวะจำยอม เหตุเลื่อนลอยไร้แผนจัดการ แนะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ถึง 70%
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ รองเลขาธิการพรรค นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค และนางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกพรรค ในฐานะคณะทำงานด้านต่างประเทศพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศ 1 พ.ย. 64 เปิดประเทศและการทำงาน 120 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในการปกป้องรักษาชีวิตของประชาชนนั้น
นายเผ่าภูมิกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ปฏิเสธการเปิดประเทศ และไม่ปฏิเสธการตั้งเป้าหมายสู่การเปิดประเทศ แต่ปฏิเสธการตั้งเป้าหมายแบบเลื่อนลอย ไร้การดำเนินการรองรับ ฉะนั้น สาระสำคัญคือการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ คำถามจึงไม่ใช่ “เปิดหรือไม่” แต่กลับเป็น “เปิดอย่างไร” และ “เตรียมพร้อมอย่างไร” มองดูที่ความพร้อม สิ่งที่เจอกลับคือความไม่พร้อม เช่น ภูมิคุ้มกันหมู่ที่ห่างไกลความจริง จังหวัดที่ตั้งเป้าเปิดรับนักท่องเที่ยว ยังเป็นจุดศูนย์กลางของการติดเชื้อ ระบบสาธารณสุขยังคาบเส้นศักยภาพของระบบพอดี
“ต่างชาติไม่มีความเชื่อมั่น สหรัฐอเมริกาจัดไทยเป็นประเทศสีแดง อยู่ระดับความเสี่ยงสูงสุด แนะนำ ‘ให้หลีกเลี่ยงการเดินทาง’ อียูปลดไทยออกจากประเทศปลอดภัย เมื่อตลาดจีน ญี่ปุ่น ยังปิด ตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา ให้เลี่ยงเดินทางมา มองไม่เห็นเลยว่านักท่องเที่ยวจะมาจากไหน ทั้งหมดเพราะรัฐบาลบริหารล้มเหลว ทำให้วันนี้ประเทศต้องเปิดท่ามกลางความเสี่ยงสูง เปิดก็เสี่ยงตาย ไม่เปิดก็อดตาย” นายเผ่าภูมิกล่าว
นายจักรพลกล่าวว่า หลายประเทศประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดอย่าง เดนมาร์ก สิงคโปร์ ชิลี แต่ข้อแตกต่างของมาตรการรองรับประเทศเหล่านี้กับไทยคือ เปิดประเทศหลังจากที่มีประชาชนได้รับวัคซีนได้ถึง 70% แล้วทั้งสิ้น ไทยนำร่องเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อ 1 ก.ค. 64 ขณะที่ประชาชนได้รับวัคซีนครบโดสเพียง 56 % และหลายจังหวัดที่จะเปิด 1 พ.ย. 64 นี้ ยังไม่มีจังหวัดใดมีที่ประชาชนได้รับวัคซีนครบโดสถึง 70% เลย แสดงถึงการบริหารจัดการฉีดวัคซีนที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล
นายจักรพลกล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลไทยโดดเดี่ยวตัวเองบนเวทีโลก ไม่เข้าร่วมโคแวกซ์ ก็เพราะความ ‘ประมาทเลินเล่อ’ คิดว่าจะสามารถจัดการการระบาดโควิด-19 ได้ สุดท้ายทำประเทศไทยเสียโอกาส ประเทศไทยและชีวิตคนไทยถูกใช้เป็นหลักประกัน กลายเป็นการรับความเสี่ยงโดยไม่เผื่อใจว่าจะมีความผิดพลาด จะจัดหาวัคซีนได้ทันเวลา สุดท้ายจะกลับลำ แต่ก็ทำประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล
“จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ต่างกังวลการเปิดประเทศที่จะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลไม่มีมาตรการคู่ขนานที่ชัดเจน อาจนำไปสู่การเกิดการระบาดระลอกใหม่ และครั้งนี้อาจเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ส่วนด้านการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจผ่านมาตรการ ‘ซอฟท์โลนทิพย์’ มีการตั้งเงื่อนไขและสร้างกำแพงไว้สูงมาก คือมีอยู่ แต่ได้มาไม่ง่าย ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนถอดใจและหมดหวัง” นายจักรพลกล่าว
นางสาวขัตติยากล่าวปิดท้ายว่า ขอตั้งคำถามรัฐบาลว่า มีความพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือกับเชื้อโควิดหากมีการระบาดเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้การแจกชุด ATK คุณภาพฟรีแก่ประชาชนทุกคน ควรทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง “ถ้าวัคซีนไม่เข้าแขน ก็ขอ ATK แยงจมูกก็ยังดี” ส่วนจุดตรวจเชื้อแบบ RT-PCR ก็ต้องทั่วถึง ความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิลาเวีย จำนวนเตียง ถังออกซิเจน เครื่อง x-ray ปอด การติดต่อ hospitel ไว้ล่วงหน้าในจำนวนที่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่จะเปิดนำร่องเพียงพอแล้วหรือยัง
ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ใช้ยุทธศาสตร์ยกระดับการตรวจหาเชื้อด้วยการแจกชุดตรวจทางไปรษณีย์ถึงบ้านให้ประชาชนฟรี สหราชอาณาจักรประกาศให้ประชาชนรับชุดตรวจได้ฟรีสัปดาห์ละ 2 ครั้งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ‘โมเดลอู่ฮั่น’ เป็นกรณีศึกษาที่ดี คือมีการตรวจแบบจริงจังเชิงรุก ไม่ใช่ตรวจเชิงรับ ตรวจทั่วถึงทุกคน และใช้เทคโนโลยีมาช่วยควบคุมมาตรการล็อกดาวน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย.