สธ.เผย 17 จังหวัดแซนด์บ็อกซ์พร้อมรับนักท่องเที่ยวเปิดประเทศปลอดภัย 1 พ.ย.นี้
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 6, นางจุฑารัตน์ มากคงแก้ว ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 9, นางสิริพรรณ โชติกมาศ ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 8, นางกองมณี สุรวงษ์สิน ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 11 และนางอมรรัตน์ ลิ้มจิตสมบูรณ์ หัวหน้ากลุ่มตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5 แถลงข่าวความพร้อมของเขตสุขภาพในการรองรับการเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
นพ.ธเรศกล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยววันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเข้ารับการกักตัวรูปแบบต่างๆ ซึ่งเดินทางจากประเทศใดก็ได้ 2.กลุ่มแซนด์บ็อกซ์นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) ได้แก่ กทม. กระบี่ ชลบุรี เชียงราย ตราด บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง ระยอง เลย สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุดรธานี ซึ่งเปิดเฉพาะพื้นที่ดำเนินการ ไม่ได้เปิดทั้งจังหวัด ผู้เดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ รับวัคซีนครบ จองที่พัก SHA Plus 7 วัน มีประกันสุขภาพวงเงิน 5 หมื่นดอลลาร์ ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ 72 ชั่วโมง ต้องลงทะเบียนหมอชนะ อยู่ในแซนด์บ็อกซ์ 7 วัน ตรวจหาเชื้อเมื่อมาถึงและตรวจอีกครั้งเมื่อครบกำหนดออกจากพื้นที่ และ 3.กลุ่ม Test to Go เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต่ำ 45 ประเทศ และ 1 เขตบริหารพิเศษ รอผลตรวจหาเชื้อในโรงแรม 1 คืน ปลอดภัยถึงไปท่องเที่ยวได้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเขตสุขภาพและจังหวัดเตรียมความพร้อมเรื่องดูแลสุขภาพ พื้นที่ท่องเที่ยว ภาคประชาชนและผู้ประกอบการ ตั้งแต่ก่อนเปิดประเทศ มีการประเมินความมั่นคงด้านสุขภาพ ซึ่งขณะนี้การติดเชื้อลดลง จำนวนเตียงผู้ป่วยสีเหลือง-สีแดงมีเพียงพอ สามารถขยายเพิ่มได้ และมีฮอสพิเทลรองรับ ความครอบคลุมของวัคซีนระดับจังหวัดมากกว่า 50% พื้นที่นำร่องมากกว่า 70% ส่งเสริมผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน COVID Free Setting โรงแรมมาตรฐาน SHA Plus โดยประเมินตนเอง หากผ่านจะได้รับใบรับรอง ประชาชนนักท่องเที่ยวสามารถร่วมประเมินได้ และจะมีการสุ่มตรวจโดยคณะกรรมการร่วมของจังหวัดทุก 2-3 สัปดาห์
ส่วนระหว่างเปิดประเทศมีแอปพลิเคชั่นติดตามตัว มีระบบประเมินติดตามสถานการณ์โดยจังหวัด หากมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นจะมีการปรับมาตรการตามลำดับ ทั้งปรับลดกิจกรรม ให้ไปเที่ยวเฉพาะพื้นที่ ให้อยู่เฉพาะโรงแรม หรืออาจยุติรับนักท่องเที่ยว สำหรับกิจกรรมในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ จังหวัดจะออกโปรแกรมและควบคุมเส้นทางระบบปิด อยากให้ประชาชนมั่นใจถึงกระบวนการเตรียมความพร้อมทั้งหมด
นพ.ณรงค์กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 6 มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 4 จังหวัด คือ 1.สมุทรปราการ ซึ่งมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2.ชลบุรี คือ พัทยา บางละมุง ศรีราชา เกาะสีชัง สัตหีบ 3.ระยอง คือ เสม็ด และ 4.ตราด คือ เกาะช้าง มีการเตรียมความพร้อมโดยรับวัคซีนครอบคลุมตามเกณฑ์ที่กำหนด เตรียมพร้อมสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนรองรับ จะมีการทำ COVID Free Stop ปั๊มน้ำมันในเส้นทางระบบปิดเพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น ส่วนจังหวัดที่เหลือในเขตสุขภาพก็เตรียมพร้อม เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว Test to Go ซึ่งเดินทางไปจังหวัดใดก็ได้ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเฝ้าติดตามสถานการณ์ หากรุนแรงขึ้นพร้อมหารือปรับมาตรการให้เหมาะสม
นางอมรรัตน์กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 5 มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว คือ ชะอำ จ.เพชรบุรี และ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ติดเชื้อรายวันทั้ง 2 พื้นที่ลดลง วัคซีนครอบคลุมตามเป้าหมาย โรงพยาบาลชะอำและโรงพยาบาลหัวหินมีทรัพยากรเตียงเพียงพอ เข้มงวดมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา ใช้ระบบฉีดวัคซีนแบบวงแหวน โดยฉีดให้คนในพื้นที่และคนเข้ามาเที่ยวในพื้นที่ ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าว สุ่มตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ เมื่อติดเชื้อจะมีทีมสอบสวนโรคเร็วใน 12 ชั่วโมง และนำผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาทันที
นางสิริพรรณกล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 8 เปิดท่องเที่ยว 3 จังหวัด 11 อำเภอ คือ 1.จ.เลย อ.เชียงคาน รับผู้เดินทางทางอากาศลงสนามบินเลย และจัดรถรับ-ส่งถึงเชียงคาน ทำกิจกรรมแบบจำกัดเส้นทาง กรณีกักตัวจะแยกพื้นที่บริการ 2.หนองคาย อ.เมือง อ.ท่าบ่อ อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.สังคม รับผู้เดินทางจากลาวผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว นักท่องเที่ยวจะเข้ามา 4 ประเภท คือ การค้าชายแดน One Day Shopping รักษาพยาบาล ทำฟันเสริมความงาม 1 วัน ท่องเที่ยวโปรแกรมระยะสั้น One Day Trip และเที่ยวระยะยาว 3-14 วัน เน้นท่องเที่ยวภายในจังหวัด โดยซื้อแพคเกจทัวร์ มีทั้งนวัตวิถีแพทย์แผนไทย กัญชาทางการแพทย์ โอทอป อาหารทะเล กิจกรรมที่ทัวร์จัดให้ ท่องเที่ยว 3 ธรรม คือ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และธรรมะ และกลุ่มสูงอายุพักระยะยาว และ 3.อุดรธานี อ.เมือง อ.กุมภวาปี อ.บ้านดุง อ.ประจักษ์ศิลปาคม อ.หนองหาน และ อ.นายูง รับผู้เดินทางโดยเครื่องบิน ผ่านระบบท่องเที่ยว และผ่านด่านพรมแดนมิตรภาพไทย-ลาว ขณะนี้ความครอบคลุมวัคซีน จ.เลย อยู่ที่ 48.28% หนองคาย 46.15% และอุดรธานี 47.82% ได้รณรงค์ฉีดให้ครบตามเป้าหมาย และเตรียมพร้อมเปิดเมืองภายใต้ความปลอดภัยทุกด้านแบบนิวนอร์มัล
นางจุฑารัตน์กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 มี จ.บุรีรัมย์ ซึ่งผ่านเกณฑ์ประเมินความพร้อมด้วยตนเอง อัตราติดเชื้อ 20-40 รายต่อวัน ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุม 59.04% ของประชากร พื้นที่เป้าหมาย อ.เมือง ฉีดวัคซีนครอบคลุม 75% ห้องปฏิบัติการตรวจ RT PCR มีความพร้อมที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โรงพยาบาลนางรอง และโรงพยาบาลสตึก ตรวจ ATK ผ่าน 23 หน่วยบริการ และเอกชน 4 แห่ง มีศูนย์หมอพร้อมสเตชัน 3 แห่ง ใน อ.เมือง อ.นางรอง และ อ.สตึก เตรียมพร้อมโรงแรมที่พักมาตรฐาน SHA Plus 44 แห่ง แหล่งท่องเที่ยว 5 แห่ง ห้างสรรพสินค้า 5 แห่ง ร้านอาหาร 20 แห่ง สถานประกอบการต่างๆ รวม 99 แห่ง ด้วยมาตรการ COVID Free Setting เน้นสิ่งแวดล้อมสะอาดปลอดภัย ไม่แออัด พนักงานและลูกค้ารับวัคซีน 100% โดยพนักงานตรวจ ATK ทุกวันศุกร์ ส่วนลูกค้าหากไม่ได้รับวัคซีนให้ใช้บริการจุดโซนนิ่ง นำอาหารกลับไปบริโภคที่บ้าน ไม่ให้นั่งในร้าน
นางกองมณีกล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 11 มีความพร้อมต้นแบบการนำร่องที่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเขตสุขภาพ ซึ่งวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะเปิดพื้นที่นำร่องเพิ่มคือ เกาะพยาม จ.ระนอง ขณะนี้การติดเชื้อลดลงพบ 6-18 รายต่อวัน ไม่มีผู้เสียชีวิต มีการเตรียมความพร้อมทั้งมาตรการดูแลปลอดภัย รณรงค์ให้บริการวัคซีนชุมชนเกาะพยาม ซึ่งฉีดครบ 100% ส่วน จ.ระนองฉีดแล้ว 63% เตรียมพร้อมเตียงผู้ป่วยสีแดง 41 เตียง สีเหลือง 222 เตียง และสีเขียว 3,829 เตียง ยังมีฮอสพิเทลรองรับ 2 แห่ง รวม 302 ห้อง ถือว่าเพียงพอรับนักท่องเที่ยว.