“อนุทิน” ร่วมประชุมสมัชชา WHO เตรียมพร้อมรับมือปัญหาโรคระบาด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้เดินทางถึง นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมประชุม สมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2564 สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าด้วยการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อภาวะโรคระบาด ที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ เนื่องมาจากโรคโควิด 19 มีผลกระทบที่กว้างขวางเกินกว่าที่กฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation, IHR 2005) จะรับมือได้

จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำกรอบกฎระหว่างประเทศขึ้นใหม่ที่มีสาระสำคัญกว้างขวางมากกว่าเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเด็นของความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ รวมถึงการยกระดับศักยภาพในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉินให้เพียงพอต่อการให้บริการ ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมของระบบสาธารณสุขในการรับมือต่อการระบาดใหญ่ การปฏิบัติตาม IHR (2005) การแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ผ่านเครือข่าย และการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

นายอนุทินเปิดเผยว่า รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขไทยพร้อมให้การสนับสนุน ในการจัดทำร่างข้อตัดสินใจ เป็นสนธิสัญญา ที่จะอำนวยความสะดวกในหารือร่วมกันของประเทศสมาชิก เพื่อหาทางออกกับปัญหาโรคระบาด ที่อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่า ทั่วโลกต้องร่วมมือกันถึงจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคครั้งนี้ไปได้ และไทยขอเป็นส่วนหนึ่ง ในการเป็นสะพาน เพื่อให้นานาชาติได้มีเวทีสำหรับหาทางออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภารกิจของนายอนุทิน และคณะ นอกจากการประชุม เพื่อจัดทำสัญญาความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤติโรคระบาดแล้ว ยังใช้โอกาสนี้เข้าหารือทวิภาคีกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO Director-General) เพื่อสะท้อนความพยายามของไทย ในการเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ร่วมใน BioHub System หลังจากที่ไทยเป็นสมาชิกในโครงการนำร่องทำการทบทวนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและความมั่นคงทางสุขภาพด้านการเตรียมความพร้อมและการตอบสนอง (Universal Health Preparedness and Response, UHPR)

และยังมีกำหนดการพบหารือทวิภาคีกับ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Programme on HIV/AIDS – UNAIDS) เกี่ยวกับกรณี ประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานโครงการ โรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board : PCB) ในปี 2565 ที่ประเทศไทยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชนเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง HIV อย่างครอบคลุม

นอกจากนั้น ยังต้องหารือทวิภาคีกับอดีตประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์.