สตง.แจงเกณฑ์บ่มคอนกรีตยี่สิบแปดวันให้ อปท.มีแนวปฏิบัติทิศทางเดียวกัน

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเชิญสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ้างและการตรวจรับงานก่อสร้างที่กำหนดระยะเวลาให้บ่มคอนกรีตอย่างน้อยยี่สิบแปดวัน และต่อมาคณะกรรมาธิการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความเห็นว่าหลักเกณฑ์การจ้างและการตรวจรับงานก่อสร้างที่กำหนดระยะเวลาให้บ่มคอนกรีตอย่างน้อยยี่สิบแปดวันเป็นระยะเวลาทดสอบหาค่าความต้านแรงอัดของแท่งคอนกรีต เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และประกาศกรมทางหลวงชนบท เรื่อง มาตรฐานงานทางหลวงท้องถิ่น พ.ศ. 2562 โดยมีข้อสังเกตร่วมกัน ดังนี้

​1.หากการทดสอบหาค่าความต้านแรงอัดของแท่งคอนกรีต (Compressive Strength of Concrete) ผ่านเกณฑ์การทดสอบตามแบบที่กำหนดก่อนระยะเวลาการบ่มคอนกรีตยี่สิบแปดวัน ให้ถือว่าคอนกรีตที่หล่อแล้วผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด สามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามสัญญาได้
​2.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดจำนวนวันทำงานในสัญญา โดยนับรวมระยะเวลาการบ่มคอนกรีตและการทดสอบหาค่าความต้านแรงอัดของแท่งคอนกรีตอย่างน้อยสามสิบห้าวันไว้ในสัญญาด้วย

​3.หากการก่อสร้างครบกำหนดระยะเวลาในระหว่างขั้นตอนการบ่มคอนกรีตหรือการทดสอบ หาค่าความต้านแรงอัดของแท่งคอนกรีต ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขระยะเวลาในสัญญาได้ เพื่อให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลา

​ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ สตง. พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และแจ้งแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อทราบด้วย

​สตง.จึงขอเรียนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ข้างต้นมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

​ข้อสังเกตที่ 1 ตามประกาศกรมทางหลวงชนบท เรื่อง มาตฐานงานทางหลวงท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ข้อ 5 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้มาตรฐานงานทางหลวงท้องถิ่น (มทถ.) เพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษาตามประกาศนี้ ซึ่งหมวด 2 งานทาง ข้อ 8 (27) มาตรฐานงานผิวจราจรแบบคอนกรีต กำหนดให้เป็นไปตาม มทถ. 231-2562 ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวได้กำหนดการทดสอบหาค่าความต้านแรงอัดของแท่งคอนกรีตไว้ว่า กำลังอัดประลัยของแท่งตัวอย่างที่อายุ 28 วัน จะต้องมีค่ากำลังอัดประลัยไม่ต่ำกว่า 325 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร หรือตามที่แบบกำหนด แต่หากจะตรวจรับงานคอนกรีตก่อนอายุครบ 28 วัน ให้ตรวจรับได้ แต่ต้องมีผลการทดสอบกำลังอัดประลัยของแท่งตัวอย่างคอนกรีตที่เก็บจากการเทผิวคอนกรีตในหน้างาน ซึ่งต้องมีค่ากำลังอัดประลัย ไม่ต่ำกว่า 325 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร หรือตามที่แบบกำหนด ทั้งนี้ อายุของคอนกรีตต้องไม่น้อยกว่า 7 วัน

​ดังนั้น การพิจารณาผลการทดสอบหาค่าความต้านแรงอัดของแท่งคอนกรีต (Compressive Strength of Concrete) ที่สามารถยอมรับได้ตาม มทถ. 231-2562 มาตรฐานงานผิวจราจรแบบคอนกรีต (Concrete Pavement) ให้เป็นไปตามข้อกำหนด จึงแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ
​​(1) ผลการทดสอบหาค่าความต้านแรงอัดของแท่งตัวอย่างคอนกรีตที่อายุ 28 วัน ต้องไม่ต่ำกว่า 325 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร หรือตามที่แบบกำหนด
​​(2) ผลการทดสอบหาค่าความต้านแรงอัดของแท่งตัวอย่างคอนกรีตเพื่อการตรวจรับงานก่อนอายุครบ 28 วัน ต้องไม่ต่ำกว่า 325 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร หรือตามที่แบบกำหนด ทั้งนี้อายุของคอนกรีตต้องไม่น้อยกว่า 7 วัน

​ข้อสังเกตที่ 2 การก่อสร้างและบำรุงรักษางานผิวจราจรแบบคอนกรีตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น          ต้องกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานให้ถูกต้องชัดเจนตามหลักวิชาการโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมของทั้งผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง ทั้งนี้สำหรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ที่กำหนดไว้อย่างน้อย 35 วัน หมายถึง การรวมระยะเวลาการบ่มของแท่งคอนกรีตตัวอย่างที่มีอายุครบจำนวน 28 วัน กับระยะเวลาดำเนินการในการส่งให้หน่วยงานราชการหรือสถาบันการศึกษาทดสอบหาค่าความต้านแรงอัดอีกจำนวน 7 วัน

​ข้อสังเกตที่ 3 กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานโดยไม่ได้นับรวมระยะเวลาการบ่มคอนกรีตและการทดสอบหาค่าความต้านแรงอัดของแท่งคอนกรีตเข้าไว้ด้วย กรณีย่อมอยู่ในดุลพินิจจะพิจารณาแก้ไขสัญญา เพื่อให้การก่อสร้างเป็นตามมาตรฐานและหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบข้อ 165 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560  และต้องเป็นการดำเนินการก่อนการตรวจรับงาน.