ป.ป.ช.สมุทรปราการลงพื้นที่ตรวจสอบการปรับปรุงถนนสายบางปู-บางพลีล่าช้า

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 นายบดินทร์ กรีธาธร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยกลุ่มงานป้องกันการทุจริต กลุ่มงานปราบปรามการทุจริต และตัวแทนภาคประชาชน ลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นการดำเนินการโครงการปรับปรุงซ่อมแซม ทางหลวงหมายเลข 3256 ตอน บางปู–บางพลี ระหว่าง กม.0+800 – กม.4+800 (ด้านขวาทาง) ระยะทาง 4 กิโลเมตร งบประมาณรวม 28,907,000 บาท โดยมีระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ 13 พฤษภาคม – 9 ตุลาคม 2563 แต่ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจากข้อมูลจาก “เพจต้องแฉ” มีการให้เบาะแสว่าการก่อสร้างมีความล่าช้าและพ้นระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาจ้างมานานกว่า 2 ปี และแผ่นกระเบื้องที่นำมาปูทางเท้ามีสภาพเก่า ตลอดจนมีความผิดปกติในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์

ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ได้สอบถามข้อมูลจาก นายชิงชัย จันทร์เปล่ง รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรปราการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวได้รับการจัดสรรงบประมาณจากจังหวัดสมุทรปราการ ตาม “แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ปีงบประมาณ 2563 โครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงถนนสายหลักสายรองเส้นทางสมุทรปราการ” โดยมีบริษัท เกตเวย์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง สำหรับค่างานตามสัญญาจ้างทั้งหมด เป็นเงิน 28,907,000.00 บาท มีการส่งมอบงานและเบิกเงินค่างานไปแล้ว จำนวน 24 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 25,019,093.90 บาท ค่างานส่วนที่เหลือ เป็นเงิน 3,887,906.10 บาท ยังไม่ได้มีการส่งงานและเบิกจ่ายค่างาน ซึ่งแขวงทางหลวงสมุทรปราการได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายในส่วนการก่อสร้างถนนไปแล้ว แต่ยังคงเหลือในส่วนของทางเท้าที่ไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมได้ เนื่องจากต้องรื้อกระเบื้องปูพื้นและทำการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด แต่ปรากฏว่าพบแนวท่อประปาของการประปานครหลวงฝังอยู่ และต้องทำการรื้อแนวท่อประปาออกก่อน จึงจะสามารถดำเนินการปรับปรุงผิวทางเท้าได้ ส่งผลให้แขวงทางหลวงสมุทรปราการไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ทัน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 จึงได้ส่งคืนงบประมาณส่วนที่เหลือเป็นเงิน 3,887,906.10 บาท คืนให้กับจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ไม่มีงบประมาณดำเนินการต่อในส่วนทางเท้าให้เสร็จสิ้นได้

ในส่วนของการทำประชาพิจารณ์นั้น เนื่องจากงบประมาณของจังหวัดสมุทรปราการไม่ได้รวมถึงงบการจัดทำประชาพิจารณ์ไว้ จึงไม่ได้ดำเนินการจัดทำกิจกรรมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่ในส่วนของงบประมาณของกรมทางหลวง ซึ่งเป็นเส้นทางดำเนินการต่อเนื่องกันตั้งแต่ กม.4+900 – กม.8+325 ได้มีงบประมาณในการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน แขวงทางหลวงสมุทรปราการ เห็นว่าทั้ง 2 โครงการ มีพื้นที่ดำเนินการต่อกัน จึงได้ดำเนินการทำประชาพิจารณ์พร้อมกัน

ในส่วนของข้อร้องเรียนว่ากระเบื้องที่นำมาปูทางเท้ามีสภาพเก่านั้น เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงสมุทรปราการชี้แจงว่า กรณีงานทางเท้าตามสัญญาจ้างรายการที่ 20 ได้กำหนดไว้ว่าให้ใช้แผ่นกระเบื้องทางเท้าเดิมนำมาใช้งาน ซึ่งจากการที่ไม่สามารถดำเนินงานทางเท้าให้เสร็จสิ้นได้เพราะต้องมีการย้ายท่อประปาของการประปานครหลวงเสียก่อน จนกระทั่งต้องคืนงบประมาณที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งแขวงทางหลวงสมุทรปราการได้มีการประสานกับการประปานครหลวง เรื่องการปรับปรุงทางเท้าแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานปรับปรุงทางเท้าให้แล้วเสร็จและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนนั้น การประปานครหลวงจะรับผิดชอบในการย้ายท่อประปาและดำเนินการปรับปรุงทางเท้าให้แล้วเสร็จต่อไป

โดยสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ได้ขอเอกสารการปรับปรุงซ่อมแซมทางหลวงหมายเลข 3256 ตอน บางปู-บางพลี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป.