“นายก” มั่นใจ “ศบค.” ปรับมาตรการต่างๆ มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ คำนึงถึงความสมดุลทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน
เพจเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” โพสต์ข้อความโดยมีใจความว่า “พี่น้องประชาชนที่รักครับ
จากการประชุม ศบค.เมื่อวาน (23 ก.พ. 65) มีหลายประเด็นที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจ และร่วมไม้ร่วมมือกัน ฟันฝ่ามหาวิกฤตนี้ ไปพร้อมๆ กับชาวโลก เพื่อให้ประเทศไทยและชาวไทยเอาชนะได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนในเอเชียหลายประเทศมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้น ทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามความรุนแรงของโอมิครอน ยังถือว่ารุนแรงน้อยกว่าเดลต้า เป็นผลให้อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำกว่าคาดการณ์ และภาพรวมการครองเตียงผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ ณ 22 ก.พ. 65 ทั้งผู้ป่วยวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยหนัก (สีเหลือง) ต่ำกว่า 20% ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่หนักและสามารถเข้ารับการศึกษาในระบบ HI/CI ได้ ทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรง ได้เข้ารับการรักษาอย่างเต็มที่
ที่ผ่านมา ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการระบาด มีค่ารักษาและบริการรวมทุกสิทธิประมาณ 3,800 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่สอง ในปี 2564 รัฐมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 97,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อาการของโอมิครอนที่ลดความรุนแรงลง รวมทั้งอุปกรณ์และการบริการตรวจเชื้อทั้ง ATK และ RT-PCR ที่หาง่ายขึ้นและราคาถูกลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล-ค่าห้องพักผู้ป่วยโควิด ค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะ-ชุดป้องกันเจ้าหน้าที่ และค่ารักษาพยาบาลกรณีรักษาพยาบาลที่บ้าน HI/CI ก็ถูกลง ด้วยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ส่งผลให้ ศบค.สามารถลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการรักษาผู้ป่วยโควิดทุกระดับอาการลงได้ โดยที่ไม่ลดประสิทธิภาพในการรักษา จึงสามารถประหยัดงบประมาณไปได้พอสมควร ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาผู้ป่วยโควิดของไทยได้รับการรักษาจนหายกลับบ้านได้ เป็นอัตรา 92% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีอัตรา 83%
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการเปิดประเทศ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการควบคุมโรคที่สมดุล และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของโลก ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาเยี่ยมเยือน โดย “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” สามารถสร้างรายได้กว่า 18,000 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกว่า 300,000 คน กระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของไทย รวมมูลค่ากว่า 43,000 ล้านบาท และล่าสุดกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของเรา ก็ได้รับการจัดอับดับที่ 6 ของเมืองจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติระดับโลก ประจำปี 2564 จากทั้งหมด 101 เมืองทั่วโลกอีกด้วย ดังนั้น ศบค.จึงได้พิจารณาปรับมาตรการตามสถานการณ์โรค โดยเฉพาะในประเทศฝั่งตะวันตกที่ลดความรุนแรงลง เพื่อลดภาระและจูงใจนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยไม่ลดประสิทธิภาพการควบคุมโรค อาทิ เปลี่ยนจากการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการพำนักในประเทศไทย เป็นการตรวจด้วย ATK แล้วแจ้งผลผ่านแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อของนักท่องเที่ยวในภายหลัง ก็สามารถติดตามและสอบสวนโรคโดยใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ได้ รวมทั้งปรับลดวงเงินคุ้มครองการประกันสุขภาพลง จากเดิมไม่น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐ เป็นไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ
สำหรับข้อเสนอในการปรับระบบการรักษาโรคโควิด-19 ให้เป็นการรักษาตามสิทธินั้น ครม. ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนและสร้างการรับรู้ให้ทั่วถึงก่อน ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เป็นผู้ให้บริการ และผู้ป่วยที่จะเข้ารับบริการ โดยจะต้องไม่สร้างความสับสน ทุกอย่างต้องชัดเจนก่อนปฏิบัติจริง ผมขอย้ำว่า ปัจจุบันโควิดยังคงเป็นโรคที่ “สามารถเข้ารับการรักษาในระบบ UCEP ได้เหมือนเดิม” โดยโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน “ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้” โดยเป็นไปตามหลักกฎหมาย และหลักมนุษยธรรม หากเตียงเต็มจะต้องมีการประสานงานเพื่อส่งต่อในระบบให้เร็วที่สุด โดยล่าสุด สปสช.ได้เพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 รวมเป็น 3,000 คู่สาย เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงนี้ อีกทั้งเพิ่มช่องทางติดต่อผ่านไลน์ @NHSO โดยผู้ป่วย/ญาติสามารถกรอกข้อมูลในทันที และคอยเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับในโอกาสแรกๆ ซึ่งผมได้สั่งการให้ทุกจังหวัดและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินและความพร้อมในการขยายศักยภาพโรงพยาบาลสนามได้ทันที่ที่จำเป็น อีกทั้งกำชับให้ยกระดับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ ไม่ให้มีกิจกรรมการรวมกลุ่มคนจำนวนมากที่ไม่เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค
ผมขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจว่า การปรับมาตรการต่างๆ ของ ศบค.ทุกครั้ง ทุกมาตรการ ล้วนมาจากหลักวิชาการ สถิติ แนวโน้ม และคำแนะนำของคณะแพทย์ที่ปรึกษา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน โดยจะพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคและบริบทของสังคมไทย ที่ย่อมมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งเราได้นำเอาบทเรียนในอดีตและมาตรการของประเทศต่างๆ มาเป็นกรณีศึกษา และปรับให้เหมาะสมที่สุด โดยยึดเอาความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ประกอบกับคำนึงถึงความสมดุลทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต กิจกรรมต่างๆ ของสังคมไทย ที่มีความสำคัญทางจิตใจไม่แพ้กัน ซึ่งผมเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าของไทย รวมทั้งเชื่อว่าความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องชาวไทย จะทำให้ประเทศไทยของเราเอาชนะสงครามโควิดในรอบนี้ ที่เชื่อว่าใกล้จะจบลงได้อีกครั้งครับ”.