แก้โควิดหรือรักษาอำนาจ! พรรคเพื่อไทย ร่อนแถลงการณ์ จี้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ชมคลิป)

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมแกนนำพรรค ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
เรื่อง ขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
​​​​​
​​ซึ่งเนื้อหาระบุ ตามที่นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้ขยายระยะเวลา การใช้บังคับประกาศตามสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง รวม 18 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ขยายไปตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 โดยเหตุผลในการประกาศ สถานฉุกเฉินนั้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นหลัก แต่กลับปรากฏว่าในการ ออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อห้ามที่ครอบคลุมถึงการห้ามชุมนุมทางการเมืองด้วย โดยระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด” ต่อมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายและได้มีการผ่อนคลายมาตรการตามข้อห้าม       ดังกล่าวลง แต่สำหรับข้อห้ามในการชุมนุมทางการเมืองนั้นยังคงไว้อยู่เช่นเดิม จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมาได้มีเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศ  และข้อกำหนดจำนวนมาก
​​
พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ทุเลา เบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด จนรัฐบาลได้เตรียมประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นโรคประจำถิ่น และยังได้ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงเป็นลำดับ เช่น การเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศโดยไม่ต้องตรวจคัดกรองเพียงแต่ให้แสดงหลักฐานการได้รับวัคซีน การเปิดโรงเรียนทั่วประเทศ การเปิดให้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีคนจำนวนมาก รวมถึงการเปิดสถานบันเทิง เป็นต้น กรณีย่อมถือว่า สถานการณ์ฉุกเฉินได้สิ้นสุดลงแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงต้องประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันทีตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

​​ดังนั้น การยังคงข้อห้ามในการชุมนุมทางการเมืองไว้ นอกจากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ยังเป็นเหตุผลทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีเองที่ไม่ต้องการให้มีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองจํากัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และนอกจากการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ควรที่จะมีมาตรการในการยุติการดำเนินคดีกับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะการฝ่าฝืนข้อกําหนดในมาตรา 9 ด้วย เพราะทุกคนที่ออกมาชุมนุมล้วนไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อประเทศ แต่ส่วนใหญ่เพราะต้องการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาลเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะต้องถูกดำเนินคดี เพราะเหตุดังกล่าว เมื่อมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลยังมี พ.ร.บ.ควบคุมโรคที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังเป็นการสร้างความมั่นใจ และสร้างบรรยากาศของการท่องเที่ยวและการลงทุนอีกด้วย

​​ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที.