“ศรีสุวรรณ” เล็งรวบรวมหลักฐานยื่น ป.ป.ช.จัดหนัก ส.ส.พรรคเล็กกินกล้วย
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข้อมูลจากกรณีไลน์หลุดออกมา ซึ่งมีเนื้อหาและภาพที่ระบุให้เห็นว่า มีรายชื่อ ส.ส.พรรคเล็ก เซ็นชื่อรับเงินเดือนประจำเดือนมีนาคม 2563 หลายคน และมีภาพหลักฐานสลิปการโอนเงินไปยังบุคคลปลายทาง ซึ่งเป็นชื่อของหัวหน้าพรรคการเมืองเล็กๆ รวมทั้งหัวหน้ากลุ่มการเมืองที่ตกเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นเงินจำนวนมากที่มีการจ่ายกันเป็นรายเดือน
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า “พรรคพวกนี้ 3-4 ปีที่ผ่านมา รับเงินเดือนจากใครให้จำไว้ ผมมีลายเซ็นทุกอย่าง รับเกิน 3,000 บาทระวังไว้เถอะ” หลังจากนั้นไม่นานก็มีไลน์หลักฐานการโอนเงินให้กับนักการเมืองพรรคเล็กต่างๆ ผ่านสื่อมวลชนเผยแพร่เต็มโซเชียลมีเดียไปหมด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สามารถบ่งชี้ได้ว่านักการเมืองต่างๆ มีพฤติการณ์รับเงินกันจริง เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่างกันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การที่มี ส.ส.รับเงินกันดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.128 วรรคแรก แห่ง พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กําหนด” ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 แล้ว ซึ่งกำหนดว่าเจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาทเท่านั้น
ซึ่ง ส.ส.ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม ม.169 แห่ง พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 2560 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสองได้ ซึ่งหาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าฝ่าฝืนจริงก็อาจยื่นคำร้องส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.ผู้นั้น และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 235 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 นั่นเอง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะได้รวบรวมพยานหลักฐานจากแหล่งที่ปรากฏในสื่อสำนักต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย กลุ่มไลน์ต่างๆ และแหล่งข่าว เพื่อนำไปประมวลยื่นให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งหากได้หลักฐานเพียงพอ ก็คาดว่าจะนำไปยื่นได้ในสัปดาห์หน้านี้.