“โฆษกตำรวจ” เตือนภัย SMS อนุมัติให้กู้เงินกลับมาระบาดอีก
วันที่ 23 พ.ย. 65 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) เปิดเผยกรณีรองโฆษกรัฐบาล ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่ง SMS อนุมัติกู้เงินก่อนหน้านี้ว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมายังสายด่วนไซเบอร์ 1441 พบพฤติการณ์คนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่จะให้เงินกู้ แล้วโฆษณาผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ส่งอีเมล หรือ ส่ง SMS หาเหยื่อโดยตรงว่ามีสิทธิได้รับสินเชื่อจากธนาคารพร้อมกับลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอป หรือให้แอดไลน์คุยกัน นอกจากไม่ได้เงินแล้ว ยังเสียเงินโดนหลอกเอาเงินประกัน หรือเงินค่าดำเนินการจากเหยื่อ ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์เตือนภัยเป็นระยะ แต่พบว่า กลับมาระบาดหนักอีกในระยะนี้ มักอ้างกับกลุ่มบริษัทสินเชื่อภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลัง
พล.ต.ต.อาชยนกล่าวต่อว่า วิธีป้องกันตนเองต่อภัยโจรออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ ในกรณีนี้สามารถสังเกตุและป้องกันได้โดย
1.ขอข้อมูลเชิงลึกมากผิดปกติ เช่น เลขบัตรประชาชน, เลขบัตรเครดิต, เลขบัญชีธนาคาร, วันเดือนปีเกิด, รหัส ATM, Password รวมถึงรหัส OTP ในการทําธุรกรรม ซึ่งการทำธุรกรรมต่างๆไม่ขอข้อมูลเชิงลึกมากขนาดนี้
2.SMS ข้อความแจ้งเตือน เพื่อให้อัปเดต หรือให้เปลี่ยนรหัสทันที พร้อมลิงก์ เมื่อคลิกลิงก์จะปรากฏหน้าเว็บไซต์ที่ให้กรอก Username/Password ในหน้าแรก ซึ่งผิดปกติ
3.ถ้าคลิกเข้าเว็บไซต์ ลิงก์ที่พาไปมักมีชื่อแปลกๆ พยายามเลียนแบบชื่อเว็บไซต์จริงของธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อ ใช้ภาพโลโก้มาสร้างโปรไฟล์ให้เหมือนจริง แม้กระทั่งข้อความส่งไปจะเป็นภาษาทางการเงินของทางธนาคารต่างๆ เพื่อให้ผู้เหยื่อสับสน และหลงเชื่อว่าเป็นข้อความจากธนาคารจริง ควรตรวจสอบตัวสะกดลิงก์เว็บไซต์ต่างๆ ในช่องเว็บเบราเซอร์ ว่าถูกต้องตรงตามจริง
4.ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้
5.ไม่รู้ว่าผู้ส่งคือใคร เมื่อได้รับ SMS แปลกๆ ที่ส่งมาชวนกู้เงิน อย่ารีบกดลิงก์หรือกรอกข้อมูล ควรเช็คให้ชัวร์ก่อน จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวง
6.การติดต่อจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่จะให้เงินกู้ทุกครั้ง ควรตรวจสอบจากเบอร์กลางของหน่วยงานนั้นๆ เพราะเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตส่วนใหญ่จะไม่ทักประชาชนมาในลักษณะนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะใช่ผู้ให้กู้ในระบบหรือเปล่า ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้บริการ ดังนี้
ตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต
-ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ที่ https://www.bot.or.th/app/BotLicenseCheck
(phone) โทร.1213
-กระทรวงการคลังได้ที่ http://164.115.61.50/picofinance/public/
(phone) โทร.1359
ศึกษารายละเอียดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ นาโนไฟแนนซ์ และบัตรเครดิตได้ที่ https://bit.ly/3cB7vNd
หากได้รับ sms ลักษณะนี้สามารถโทรแจ้งศูนย์เครือข่ายมือถือได้เลย AIS-1185 TRUE-9777 DTAC-1678
โฆษก ตร.กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ SMS อนุมัติให้กู้เงิน ซึ่งปัจจุบันสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามและหาทางป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันศูนย์ PCT มีการเตือนภัยพี่น้องประชาชน รูปแบบกลโกงของคนร้ายรวมทั้งสิ้น 18 วิธี หากสงสัยเกรงจะตกเป็นเหยื่อสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท.1441 หรือ ศูนย์ PCT 08-1866-3000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th.