ใบสั่งจริง!! โฆษก ตร.ยันจราจรเริ่มใช้งานใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ พ.ค.65-เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ
พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า กรณีภาพถ่ายใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ที่เพจ หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นำมาโพสต์ โดยระบุ “ใบสั่งแบบนี้มันจะไปติดที่หน้าต่างรถ อย่า scan จ่ายเด็ดขาด มันของปลอม เพื่อนเพิ่งได้รับมา” นั้น จากการตรวจสอบไปยังผู้ออกใบสั่ง คือ สน.บางยี่ขัน แล้วพบว่าเป็นใบสั่งจริง
จึงขอเรียนชี้แจงว่า ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ คือ การออกใบสั่งผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลแบบพกพา ที่มีการติดตั้งแอปพลิเคชันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติชื่อว่า Police Ticket Management (PTM) เพื่อใช้เป็นโปรแกรมออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตำรวจจราจรจะพิมพ์ใบสั่งออกมาจากเครื่องให้กับผู้ขับขี่ที่ทำผิดได้ทันที
โดยจะใช้กรณีที่พบการกระทำผิดซึ่งหน้า (แบบเดียวกับใบสั่งรูปแบบที่ต้องเขียนด้วยลายมือ) เช่น ไม่สวมหมวกหรือไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ขับรถย้อนศร ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทางต่างๆ รวมถึงจอดรถในที่ห้ามจอดด้วย
ข้อมูลในใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์นี้ จะมีการระบุข้อหาและอัตราค่าปรับตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบอย่างชัดเจนในใบสั่งทุกใบ โดยข้อมูลจะเชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแบบ real time รวมถึงจะแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น วัน เวลา และสถานที่ที่ทำผิด ข้อมูลทะเบียนรถ ข้อมูลใบขับขี่ (กรณีพบตัวผู้ทำผิด) ชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่ออกใบสั่ง
นอกจากนั้น จะมี QR Code ด้านล่างสำหรับอำนวยความสะดวกประชาชนในการชำระค่าปรับผ่านระบบ mobile banking และ QR Code สำหรับตรวจสอบใบสั่งของตนเอง ผ่านเว็บไซต์ E-ticket (https://ptm.police.go.th/eTicket)
ปัจจุบัน ใบสั่งของตำรวจจราจรจะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ
1) ใบสั่งแบบเขียนด้วยลายมือ
2) ใบสั่งสำหรับส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นกรณีตรวจจับโดยกล้องอุปกรณ์ และ
3) ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ รูปแบบของใบสั่งนั้น เป็นไปตามประกาศ ตร. เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ซึ่งประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 ก.ค.64
สำนักงานตำรวจแห่งช่าติมุ่งเน้นการพัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่อสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงาน ด้วยระบบเทคโนโลยีดังกล่าว ส่งผลให้กระบวนการออกใบสั่งมีมาตรฐาน เป็นสากล โปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงาน และเคารพกฎจราจร ซึ่งจะช่วยสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ปลอดภัย ป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างเป็นรูปธรรม.