“ชัยวุฒิ” ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เยี่ยมชมผลสำเร็จดีป้าประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวและโควิด “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เล็งใช้ “หมอชนะ” ต่อยอดเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ภูเก็ต และเยี่ยมชมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว และการควบคุมโควิด ในโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ที่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำร่องขับเคลื่อนแผนการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เริ่มจากภูเก็ต ก่อนใช้เป็นต้นแบบขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมต่อไป โดยมีนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีให้กับการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เช่น ระบบติดตามบุคคลโดยการจับใบหน้า, ระบบติดตามตัวหมอชนะ, Dash Board ที่ใช้สำหรับรายงานสถานการณ์ แจ้งเตือนในระบบ Phuket Tourism Sandbox, ระบบ Shaba Plus และระบบตรวจสอบนักท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการกักตัว เป็นต้น
ในโอกาสนี้ รมว.ดิจิทัลฯ ได้เยี่ยมชมการปฏิบัติงานศูนย์ Phuket Sandbox (ณ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 191 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต) ซึ่งมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลของนักท่องเที่ยวและระบบติดตามตัวนักท่องเที่ยว กับด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก ที่ด่านท่าฉัตรไชย ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำ ที่ท่าเรืออ่าวฉลอง ท่าเรือรัษฎา และท่าเรืออ่าวปอ) ศูนย์ประสานงานโรงพยาบาลรัฐและเอกชน สถานีตำรวจภูธรจังหวัด ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยว ศูนย์ประสานงานโรงแรม SHA Plus Manager ศูนย์ประสานงานสถานประกอบการ SHA Plus ศรชล.จังหวัดภูเก็ต สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภาคใต้ รวมไปถึงหน่วยงานส่วนกลาง ทั้ง ศปก. ศบค. และ ศบค.มท.
โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าภูเก็ต ต้องดาวน์โหลดแอปหมอชนะ เพื่อเป็นระบบติดตามตัว ซึ่งจะส่งสัญญาณโลเคชั่นที่นักท่องเที่ยวอยู่ทุกๆ ครึ่งชั่วโมงมายังศูนย์ฯ ทำให้ทราบว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตอยู่ ณ จุดใด และหากนักท่องเที่ยวออกนอกพื้นที่ภูเก็ตระบบดังกล่าวก็จะแจ้งเตือนมายังศูนย์ฯ
“เรายังขยายผลการใช้งานแอปหมอชนะ สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติมจากภูเก็ต ที่ผ่านมามีการตรวจสอบมาตรการของแอปฯ แล้ว จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ให้เจ้าหน้าที่ดาวน์โหลดติดตั้งแอปหมอชนะ ได้ทดสอบออกนอกพื้นที่ที่กำหนด ก็พบว่า ระบบจะแจ้งเตือนไปที่ห้องควบคุมระบบว่ามีผู้ฝ่าฝืนออกนอกพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามกลับเข้าพื้นที่ได้ ควบคู่กับการตรวจคัดกรองโควิดชาวต่างชาติก่อนเข้าพื้นที่แบบ RT-PCR 3 ครั้ง ระหว่างที่ท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ด้วยครับ จึงทำให้มั่นใจมากขึ้นเรื่องป้องกันความเสี่ยงแพร่เชื้อ รองรับการผลักดันการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ให้เมืองไทยกลับมาเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลกได้เหมือนเดิม ภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่” นายชัยวุฒิกล่าว
นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ IOC (Intelligence Operation Center) หรือ Command Center ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการและรวบรวมข้อมูลระดับเมืองของเทศบาลป่าตอง เป็นการขยายผลสู่ระดับจังหวัดที่ดำเนินการร่วมกับจังหวัดภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน โดยศูนย์ดังกล่าวมีการนำแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมือง (City data Platform: CDP) มาใช้วางแผน บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาของเมืองที่มีความซับซ้อนให้เกิดประสิทธิภาพ
นายชัยวุฒิกล่าวว่า ดีป้า ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดดีอีเอส ได้ขับเคลื่อนและพัฒนาแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการการทำงานกับ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดตั้งกล้องซีซีทีวีบริเวณหาดป่าตอง และทุกแยกจราจร ให้ทำงานร่วมกับโซลูชันตรวจจับใบหน้า เพื่อตรวจสอบและติดตามผู้กระทำผิด และส่งการแจ้งเตือนสู่ศูนย์ฯ ก่อนนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และนำไปใช้วางแผน บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาของเมือง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และด้านอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ ในระยะต่อไปวางเป้าหมายการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตเข้าด้วยกัน เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัด ก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ (Phuket Smart City)
ด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงโครงการ Phuket Sandbox ที่นำร่องทดสอบการเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลประยุกต์ในการในหลากหลายมิติ รวมถึงการติดตามตรวจสอบให้นักท่องเที่ยวในโครงการอยู่ในขอบเขตและระยะเวลาที่กำหนดผ่าน Application หมอชนะ เป็นต้น
“ขอชื่นชม แอปหมอชนะ ซึ่งรวมถึงการนำระบบ SHABA มาใช้ขับเคลื่อน และขอบคุณทางรัฐมนตรี และทางกระทรวงดิจิทัลที่ได้จัดสรรงบประมาณในโครงการ 5G Use Case ระบบในการคัดกรองและแจ้งเตือนสำหรับ Phuket Sandbox รวมถึงระบบ Big Data เพื่อบูรณาการข้อมูลที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งนักท่องเที่ยวหรือฝั่งผู้ประกอบการแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเศรษฐกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้จังหวัดภูเก็ตจะได้มีเครื่องไม้เครื่องมือในการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลอย่างมาก” ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าว.