“ธนกร” จับมือ “กุลวลี” ชวนคนราชบุรีอบรมอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชน-สวนฝ่ายค้าน “เอาไงกันแน่” ช่วยประชาชนก็บอกหาเสียง ไม่ช่วยก็บอกไม่เหลียวแล
นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ได้รับเชิญจากนางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ให้เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ที่ ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายมานิต นพอมรบดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมและ มีชาวบ้านเข้าร่วมงานกว่า 400 คน
ทั้งนี้ รัฐบาลส่งเสริมให้มีโครงการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม และได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง เพื่อดําเนินงานโครงการฯ ภายในกรอบวงเงิน 1,249.3 ล้านบาท เพื่อดำเนินการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายหลังวิกฤตโควิด-19 โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการดําเนินโครงการหรือกิจกรรม เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงการสร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน
“ชาวบ้านได้ฝากขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านผ่านโครงการดังกล่าวครอบคลุมทั้งผู้ที่ถูกเลิกจ้างและกลับคืนถิ่น รวมถึงประชาชนที่สนใจ ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนได้รับการพัฒนา สร้างเศรษฐกิจฐานรากในระดับท้องถิ่นและชุมชนให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และสังคม คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท” นายธนกรกล่าว
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งเตือนกรอบเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร (วันที่ 23 มี.ค.2566) ที่ผู้สมัคร และพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ทำให้หลังวันที่ 24 ก.ย. ไม่สามารถแจกสิ่งของช่วยน้ำท่วม หรือโควิดได้นั้น นายธนกรกล่าวว่า คงต้องรอให้ กกต.เป็นผู้ออกมาชี้แจงในกรณีนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้วมองว่า ควรจะแยกเรื่องการเมืองกับเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนออกจากกันจะดีกว่าหรือไม่ เพราะการดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนนั้น เป็นหน้าที่ที่สำคัญของรัฐบาลเช่นกัน จึงน่าจะเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลนั้นจะต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ซึ่งไม่ได้เป็นการเข้าไปให้การช่วยเหลือในนามพรรคการเมืองแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นจะมีบางพรรคที่เอาแต่ได้ จ้องบิดเบือนตลอดเวลาหากรัฐบาลไม่ดำเนินการอะไร โดยจะอ้างว่ารัฐบาลไม่เหลียวแลประชาชน แต่พอรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน ก็จะออกมาบอกว่ารัฐบาลแจกของแบบเนียนๆ ขณะเดียวกันบางพรรคการเมืองนั้น กลับมีการจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดถี่ยิบเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเข้าข่ายการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคการเมืองด้วยหรือไม่ เพราะเอะอะอะไรก็ประกาศว่าจะแลนด์สไลด์ท่าเดียว ซึ่งเหล่านี้ก็อยากให้ กกต.ช่วยระบุให้ชัดเจนด้วยเช่นกันว่า ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องถูกนำไปคิดรวมในการเลือกตั้งด้วยหรือไม่.